xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยอ่วม Q2/56 ขาดทุน8.4 พันล.ฉุด6เดือนแรกทรุด ปรับเป้าทั้งปีกำไรเหลือ4พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สรจักร”เผย Q2/56 การบินไทยขาดทุน 8.4 พันล. ฉุดรอบ 6 เดือนแรกปี 56 ขาดทุนสุทธิ131ล. ชี้ค่าเงินผันผวน ลงบันทึกด้อยค่าเครื่องบินจอดเฉยๆ อีก 7 ลำ รับมอบเครื่องบินเพิ่ม ในขณะที่สร้างยอดขายไม่ได้ตามเป้า ปัจจัยฉุดผลประกอบการทรุด ปรับเป้ากำไรทั้งปีเหลือ 4 พันล. ยอมรับผลประเมินชี้ที่ผ่านมาทำเต็มที่ ส่วนกก.เลื่อนประชุมประเมินด้าน"พฤณฑ์”สั่งศึกษาแยกครัว-คาร์โก้เป็นบริษัทย่อยหวังสร้างรายได้เพิ่ม

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เป็นประธาน วานนี้ (14 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมรับทราบผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) โดยมีรายได้ 46,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2555 ที่มีรายได้ 46,124 ล้านบาท แต่เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)ทำให้รายได้เติบโตต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 4,202 ล้านบาท และมีการปรับด้อยค่าเครื่องบินรอการขายอีก 1,332 ล้านบาททำให้ขาดทุนสุทธิที่ 8,426 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรก 2556 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัท มีรายได้ 101,750 ล้านบาท รายจ่าย 100,207 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,543 ล้านบาท ต่ำกว่าครึ่งปีแรก 2555 ที่มีกำไร 3,086 ล้านบาท โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 131 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 3,772 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากช่วง 6 เดือนแรกปี 2556 ค่าเงินบาทมีความผันผวน ค่าเงินยูโร เงินเยน เงินรูปีอ่อนทำให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,964 ล้านบาท และมีการบันทึกขาดทุนด้อยค่าเครื่องบินที่ไม่ได้ทำการบินถึง 3,592 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่บันทึกด้อยค่าเครื่องบินเพียง 181 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลประกอบการด้านขนส่งสินค้า ( คาร์โก้) ช่วง 6 เดือนแรกมีรายได้ 12,000 ล้านบาท ขาดทุนถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหาจากมีสินค้าขาออกแต่ไม่มีขาเข้าทำให้ใช้ศักยภาพเฟดเตอร์ได้ไม่เต็มที่

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุน คือ มีเครื่องบินจอดโดยไม่ได้นำไปทำการบินและต้องบันทึกด้อยค่ารวม 7 ลำ ประกอบด้วย A340-500 /4 ลำ A300-600 /3 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ไม่ได้รับความนิยม กินน้ำมันนำมาบินขาดทุน ขายได้ราคาต่ำกว่าบัญชี บอร์ดจึงให้ฝ่ายบริหารพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่บริษัทรับมอบเครื่องบินเข้ามามากที่สุด โดย 6 เดือนแรก รับมอบ 8 ลำจำนวนที่นั่งเพิ่ม 8.3 % ครึ่งปีหลังรับมอบอีก 9 ลำ รวมทั้งปี 17 ลำ จำนวนที่นั่งเพิ่มเป็น 11.3 % ซึ่งช่วง 3 ปีนี้ (56-57 ) เป็นช่วงที่ลำบาก เพราะจะรับมอบเครื่องบินรวม 39 ลำ มากที่สุดเท่าที่ตั้งบริษัทมาและทำให้มีหนี้มากที่สุดถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่ปี 58 จะเริ่มดีขึ้น

ส่วนกระแสข่าวไม่ผ่านประเมินการทำงาน เนื่องจากผลขาดทุนนั้นนายสรจักรกล่าวว่า อยู่ที่กรรมการประเมิน ทราบว่า ตณะกรรมการประเมินผลการทำงาน เลื่อนประชุมจากที่กำหนดวันที่ 15 สิงหาคมนี้ออกไปก่อน เนื่องจากนาย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประเมินไม่ว่าง ยืนยันที่ผ่านมาได้พยายามทำอย่างดีที่สุดและร่วมมือกับบอร์ดและฝ่ายบริหารด้วยดี ซึ่งถึงเวลาที่การบินไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อขยายฐานรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายไม่ให้มากเกินไป ต้องปรับโครงสร้างฝ่ายการพาณิชย์เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขายให้มากขึ้นและให้ทันกับการแข่งขันธุรกิจการบินที่รุนแรงมากกว่าเดิม รวมถึงต้องหารายได้เพิ่มจากแหล่งอื่น

ทั้งนี้ การแข่งขันธุรกิจการบินรุนแรง ช่วง ไตรมาส2 มีเครื่องบินเพิ่ม แต่ทำยอดขายไม่ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งแผนรับมอบเครื่องบินมาก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่ง อย่างไรก็ตามบอร์ดได้ตั้งเป้ากำไรจากการดำเนินงานทั้งปี56 ไว้ที่ 4,000 ล้านบาทซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 6,000 ล้านบาทส่วนเป้ารายได้ทั้งปีที่ 2.2 แสนล้านบาท อาจจะไปไม่ถึง ซึ่งในช่วง ไตรมาส 3,4จะต้องเร่งเพิ่มรายได้ให้เต็มที่ โดยตัดเส้นทางที่ไม่ทำกำไร และไม่เปิดเส้นทางบินใหม่ไปยุโรปเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น โดยจะหันมาเน้นเส้นทางญี่ปุ่นและจีนที่ทำกำไรได้ดี โดยเดือนตุลาคมจะเพิ่มเที่ยวบินไปซับโปโร จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็นทุกวัน เดือนธันวาคม เปิดบินไปเซนได 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และใช้ A 380 บินไปโตเกียว โอซาก้าแทนลอนดอน

”พฤณฑ์”สั่งศึกษาแยกครัว-คาร์โก้เป็นบริษัทย่อย

พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วานนี้ (14 ส.ค.) นายสรจักร ได้รายงานว่า สาเหตุผลประกอบการไตรมาส 2/2556 ซึ่งประสบปัญหาขาดทุน มาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน การซื้อเครื่องบินใหม่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งได้แนะนำให้หาจุดอ่อน และจุดเสี่ยงขององค์กร รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพ (KPI) แต่ละงานให้ชัดเจนและได้ให้แนวคิดในการปรับปรุงองค์กร เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้เพิ่ม เช่น แยกครัวการบิน และ คาร์โก้ จากหน่วยธุรกิจ ออกเป็นบริษัทลูก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งรูปแบบเดียวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัทลูกจำนวนมากและประสบความสำเร็จในเชิงรายได้ จะนำมาใช้กับการบินไทยได้หรือไม่ โดยให้รายงานกลับมาภายใน 30วัน

ส่วนกระแสข่าวว่าจะปลดนายสรจักร จากผลประกอบการตกต่ำ เห็นว่ายังเป็นข่าวลือ ส่วนตัวเห็นว่าจะพิจารณาแค่ตัวผู้บริหารไม่ได้ เราต้องดูหลายๆปัจจัยประกอบกันว่าทำไมผลประกอบการถึงแย่ เช่น ถ้ามีรายได้ 1,200 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายพนักงาน 1,000 ล้านบาท เป็นใครก็บริหารไม่ไหว
กำลังโหลดความคิดเห็น