xs
xsm
sm
md
lg

สุวรรณภูมิเฟส 3, 4 จ่อแท้ง ปรับใช้ดอนเมืองบริการเต็มรูปแบบ จับตาผลประโยชน์ก้อนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขนส่งทางอากาศโตก้าวกระโดด สุวรรณภูมิส่อขยายเฟส 3, 4 ไม่ทัน ขณะชาวบ้านรอบสนามบินได้รับผลกระทบทางเสียงประท้วงยืดเยื้อ ทำไทยเสียโอกาสเป็นศูนย์กลางการบิน “ชัชชาติ” ยอมรับมีปัญหา มองใช้ดอนเมืองคู่สุวรรณภูมิ รับได้ 100 ล้านคนไปอีก 10 ปี เชื่อ “ศิธา” วางแผนพัฒนาใหม่ จับตากลุ่มทุนจ้องตาเป็นมันผลประโยชน์ดอนเมืองเปิดบริการเต็มรูปแบบ

จากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มี น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานมีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม เห็นชอบให้ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับเที่ยวบินแบบเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่นเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองไม่มีข้อจำกัดทางการบินและสามารถรองรับการเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติเดิมที่กำหนดบทบาทท่าอากาศยานดอนเมืองให้รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และ/หรือเส้นทางการบินในประเทศ และระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point) บนหลักการของความสมัครใจของสายการบิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การพัฒนาสนามบินดอนเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการพัฒนาสนามบินของประเทศไทยอาจจะต้องปรับใหม่ จากที่มุ่งขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี การก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสนามบินดอนเมืองมากนักแต่เมื่อพบว่าการขยายสุวรรณภูมิไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจนถึงวันนี้ ปัญหาผลกระทบทางเสียงและการชดเชยกับประชาชน ยังไม่เรียบร้อยและพร้อมที่จะมีการประท้วงได้ตลอดเวลา ประกอบกับการขนส่งทางอากาศมีการเติบโตสูง การขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องเวลาอีกอย่างน้อย 4-5 ปี ส่วนสนามบินดอนเมืองใช้เวลาปรับปรุงแค่ 1-2 ปีศักยภาพการรองรับผู้โดยสารกลับมาอยู่ที่ 35 ล้านคนต่อปี
เหมือนช่วงก่อนถูกปิดเมื่อปี 2549 ได้

“พื้นที่ของดอนเมืองมีความพร้อมมากแต่เสียดายที่ถูกปิดไปเมื่อปี 2549 ซึ่งตอนนั้นเกรงว่าถ้าไม่ปิดดอนเมือง สุวรรณภูมิอาจจะไม่มีสายการบินไปใช้ ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิกับดอนเมืองและรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ชะงักด้วย ต้องยอมรับว่านโยบาย Single Airport เกิดจากผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับสนามบินทั้งร้านค้าต่างๆ สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) บริการต่างๆ สำหรับผู้โดยสารและสายการบิน ซึ่งมีกลุ่มทุนจับจองกันไว้แล้ว และเมื่อดอนเมืองเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ผลประโยชน์ทางธุรกิจก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 รับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ดอนเมืองอีก 35 ล้านคนต่อปี รวม 2 สนามบินรับได้ 100 ล้านคนต่อปี ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และพอมีเวลาทบทวนเพื่อวางแผนการพัฒนาที่ชัดเจนและถูกต้องอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ มองกันว่าจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แต่ยังไม่สรุปว่าจะพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ได้ 100% หรือไม่เพราะเป็นสนามบินทหารต้องการกันพื้นที่เพื่อความมั่นคง ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ทอท.อาจจะต้องมองไปถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งพื้นที่ด้านตะวันออกยังมีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรม ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯไปถึง ดังนั้นการเดินทางของผู้โดยสารจะมีความสะดวกมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า หลักที่ให้ดอนเมืองเป็น Full Service เพราะต้องการให้ผู้โดยสารต่อเครื่องมีความสะดวกมากที่สุด และต้องยอมรับว่าการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 และรันเวย์ 3 ไม่ใช่เรื่องง่าย แนวคิดเพิ่มเติมตอนนี้ อาจจะพิจารณาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศของสุวรรณภูมิเพราะมีพื้นที่ทำได้ ซึ่งหากปรับดอนเมืองเต็มรูปแบบรวมกับสุวรรณภูมิเฟส 2 สนามบินไทยรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี ไปอีก 10 ปี ยังพอมีเวลาคิดแผนพัฒนาที่ดีที่สุดได้

“ผมมองว่าถ้าพัฒนาดอนเมืองเต็มรูปแบบ และทำสุวรรณภูมิเฟส 2 รวมกันยังรับผู้โดยสารได้อีก 10 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่า สายการบินใหญ่ จะแห่มาดอนเมืองเพราะสายการบินใหญ่ต้องการเครือข่ายและยังมีเรื่องคาร์โก้ ที่ดอนเมืองอาจจะมีข้อจำกัดในการรองรับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานบอร์ดทอท.ที่ต้องไปคิดให้ดีว่าจะพัฒนากันอย่างไร” รมว.คมนาคมกล่าว

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานบอร์ดทอท.กล่าวว่า การพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ล่าช้าจากที่ต้องเสร็จปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 45 ล้านคนเต็มเฟสแรกพอดี โดยต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2549 น่าเสียดายที่รัฐบาล คมช.ซึ่งบริหารอยู่กว่า 1 ปี รัฐบาลนายกฯสมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีเวลาสั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2 ปี 5 เดือน ไม่ได้ทำอะไรกับเฟส 2 และปัจจุบันเร็วที่สุดเฟส 2 จะเสร็จปี 2560 แต่ไม่น่าจะทันกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวรวมถึงการเปิด AEC จึงไม่มีทางอื่น นอกจากนำของเดิมที่มีอยู่แล้วคือ ดอนเมืองมาทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนรันเวย์ที่ 3 ของสุวรรณภูมินั้น ยังมีความจำเป็นแม้ว่าจะรองรับได้เพิ่มอีก 12 เที่ยวบินต่อชั่วโมงจากปัจจุบัน 2 รันเวย์ รับได้สูงสุด 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นรันเวย์สำรองกรณีที่รันเวย์ 1 หรือ 2 เกิดปัญหา จะใช้รันเวย์ 3 ในการขึ้นลง หากไม่มีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เหลือรันเวย์เดียวจะรับได้แค่ 40 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น