xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ชู 10 ปี ไทยขึ้นชั้นฮับการบินในภูมิภาค ศูนย์รวมเครือข่าย ซ่อมและผลิตอากาศยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” จัดเวิร์กชอปหน่วยงานการบินทลายกำแพงร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การบิน ดันไทยเป็นฮับภูมิภาคใน 10 ปี ทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อ ศูนย์ซ่อมและผลิตชิ้นส่วน รวมถึงฝึกอบรมบุคลากรด้านอากาศยาน ดึงแอร์เอเชีย-นกแอร์เป็นเครือข่ายหลักกระจายผู้โดยสารในประเทศและภูมิภาค

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) “การพัฒนาระบบการเดินอากาศของไทย กับก้าวต่อไปของการเดินอากาศสากล” เมื่อวันที่ 8 มีนาคมว่า ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศของไทยอยู่ในอันดับ 28 ของโลกสูงกว่ามาเลเซีย ซึ่งตามยุทธศาสตร์ 10 ปีของประเทศจะมีการพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนทางทางอากาศ ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมใน 3 มิติ คือ ศูนย์กลางในการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน โดยการขนส่งทางอากาศของไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้มแข็งทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถจัดหาเงินกู้มาลงทุนได้เองโดยภาครัฐไม่ต้องรับภาระ ดังนั้นใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจึงไม่มีการลงทุนทางอากาศ

ทั้งนี้ ปัญหาของอุตสาหกรรมการบิน คือ ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเร็วและแข่งขันกันรุนแรง จะเห็นได้จากช่วง 2-3 ปีก่อน สายการบินต้นทุน (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) เพิ่งเข้ามาทำให้รูปแบบการบินเปลี่ยนแปลง เส้นทางบินหนาแน่น ท่าอากาศยานทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมืองเต็มขีดความสามารถอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นฮับการบินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบินทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานนอก คือ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ ต้องมาร่วมกันเพื่อกำหนดประเด็นของยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนี้ การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคจะต้องมีบริการพื้นฐานที่ดีเพื่อให้สายการบินสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการบินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transit) ที่สุวรรณภูมิใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 90 นาที หากลดได้อีกก็จะทำให้การเชื่อมต่อทำได้มากขึ้น ซึ่งทอท.อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบิน (Transfer Baggage Terminal) เพื่อแยกกระเป๋าของผู้โดยสารต่อเครื่องออกทำให้เวลาในการเปลี่ยนเครื่องลดลง รวมถึงต้องพัฒนาเครือข่ายการบิน โดยร่วมมือกับสายการบินโลว์คอสต์ อย่างไทยแอร์เอเชีย หรือนกแอร์ เพื่อเป็นหลักกระจายผู้โดยสารทั้งภายในประเทศและในภูมิภาค

“ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรกำหนดทุกๆ 5 ปี เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับการลงทุนของหน่วยงานที่จะใช้เวลาระดับหนึ่ง ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องก้าวต่อไปให้สูงขึ้น โดยเชื่อว่าข้อได้เปรียบจากภูมิศาสตร์และบุคคลากรจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินได้ ซึ่งนอกจากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์แล้ว จะต้องมองทิศทางของโลก ศูนย์กลางการบินของโลกอยู่ตรงไหน และจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ตรงไหน คือถ้าไม่เข้าใจก็จะกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ถูกต้อง ส่วนการแก้ปัญหาเส้นทางบินคับคั่งน่านฟ้าหนาแน่น เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน” นายชัชชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น