xs
xsm
sm
md
lg

บวท.นัดแอร์ไลน์ถกแผนเพิ่มเครื่องบินใน 5 ปี เร่งจัดเส้นทางบินใหม่ลดแออัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บวท.” ออกแบบเส้นทางบินใหม่บริหารการจราจรทางอากาศ 3 สนามบิน “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา” เพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินต่อวัน คาด 3-4 เดือนเริ่มใช้ได้ เหตุตลาดการบินคึกคัก เที่ยวบินเช่าเหมาลำพุ่งรอบ 4 เดือนเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 เที่ยวบิน เตรียมประสานการบินไทย-นกแอร์-แอร์เอเชีย ขอข้อมูลแผนขยายการบินช่วง 5 ปี และเร่งเจรจากองทัพอากาศขอพื้นที่บินเพิ่ม

น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มปริมาณการจราจรทางอากาศที่เติบโตสูงขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 10% นั้นและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีใหม่และตรุษจีนที่ผ่านมาทำให้การจราจรทางอากาศเกิดความหนาแน่น ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาระระยาว บวท.จึงได้ออกแบบเส้นทางบินในการบริหารการจราจรทางอากาศใหม่เพื่อให้มีพื้นที่ในห้วงอากาศมากขึ้น โดยหอบังคับการบินจะประสานกับนักบินเพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติการบินในเส้นทางบินใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงจะเริ่มใช้เส้นทางบินใหม่ได้

โดยจะเชิญผู้แทนกองทัพ รวมถึงกรมการบินพลเรือน (บพ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มาหารือถึงการแก้ปัญหาภายในสัปดาห์หน้าหลังจากนั้น จะทยอยเชิญผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินนกแอร์ และสายการบินแอร์เอเชีย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการบินของแต่ละบริษัทในช่วง 5 ปีข้างหน้าว่ามีแผนเพิ่มเที่ยวบินอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจัดเตรียมความพร้อมด้านการจราจรทางอากาศไว้ให้สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดการบิน เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้หลายสายการบินมีการสั่งซื้อเครื่องบินล่วงหน้าจำนวนมาก

“ความหนาแน่นของเที่ยวบินทำให้ต้องบริหารจุดตัดในอากาศ ซึ่งทำให้เครื่องบินต้องบินรอประมาณ 15-20 นาทีก่อนที่จะได้รับการจัดสรรส้นทางบินเพื่อลงจอดซึ่งถือว่ายังไม่เป็นปัญหาในภาพรวมและสายการบินยังรับได้ เพราะยังไม่ทำให้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงเพิ่ม โดยปริมาณเที่ยวบินในช่วง 4 เดือน (ต.ค. 55 - ม.ค. 56) เพิ่มขึ้น 10% โดยเฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำมีกว่า 1,000 เที่ยวบิน โดยเฉพาะจากจีนและรัสเซีย ซึ่ง พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคมมีนโยบายให้หากลยุทธ์จูงใจให้สายการบินเข่าเหมาลำใช้บริการในช่วงที่มีความแออัดน้อยประมาณ ตี 1-ตี 4 เช่น ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีเพราะหากเที่ยวบินหนาแน่นมากๆ อาจกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน และยังทำให้เจ้าหน้าที่จัดจราจรมีความเครียดมากกว่าปกติ” น.ต.ประจักษ์กล่าว

ทั้งนี้ หลักการจัดจราจรทางอากาศจะบริหารภาพรวมเส้นทางการบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และอู่ตะเภาซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่น และเพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินของสุวรรณภูมิและดอนเมืองได้แน่นอน โดยจะมีความปลอดภัยสูงสุดรวมถึงไม่ทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพราะเครื่องบินสามารถลงจอดได้อย่างรวดเร็ว และยังลดปัญหาผลกระทบทางเสียงด้วย แต่ทั้งนี้ บวท.จะต้องประสานงานกับ ทอท.เพื่อให้บริหารการให้บริการภาคพื้นที่สอดคล้องเพื่อให้การขึ้นลงของเครื่องบินมีความคล่องตัวไม่ติดขัด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีเที่ยวบินเฉลี่ย 450-470 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่มีขีดความสามารถรับได้สูงสุด 500 เที่ยวบินต่อวัน สุวรรณภูมิสามารถรับเที่ยวบินได้ถึง 1,000 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนอู่ตะเภาจะช่วยเพิ่มพื้นที่ห้วงอากาศฝั่งตะวันออกสำหรับจัดจราจรเป็นหลัก
“ยุคโลว์คอสต์...ตั๋วถูก”ครองตลาด ถึงเวลาทอท.ปรับแผนรับโมเดลการบินใหม่
ในปี 2555 การเติบโตและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ เข้มข้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียกลายเป็นตลาดสำคัญด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้ทิศทางธุรกิจการบินจะยิ่งทวีความดุเดือดและจะเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน ซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ท่าอากาศยานของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปี 2554 มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 288,540 เที่ยวบิน ผู้โดยสารจำนวน 47.8 ล้านคน ปี 2555 ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มเป็น 319,484 เที่ยวบิน ผู้โดยสาเพิ่มเป็น 52.6 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น