xs
xsm
sm
md
lg

“ยุคโลว์คอสต์...ตั๋วถูก”ครองตลาด ถึงเวลาทอท.ปรับแผนรับโมเดลการบินใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปี 2555 การเติบโตและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ เข้มข้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียกลายเป็นตลาดสำคัญด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้ทิศทางธุรกิจการบินจะยิ่งทวีความดุเดือดและจะเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน ซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ท่าอากาศยานของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปี 2554 มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 288,540 เที่ยวบิน ผู้โดยสารจำนวน 47.8 ล้านคน ปี 2555 ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มเป็น 319,484 เที่ยวบิน ผู้โดยสาเพิ่มเป็น 52.6 ล้านคน

ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องหันกลับมาใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เต็มศักยภาพมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้มีเพียงสายการบินขนาดเล็ก 2 รายให้บริการ โดยดอนเมืองกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม โดยมี ไทยแอร์เอเชีย ยักษ์ใหญ่สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ยกฝูงบินย้ายมายึดดอนเมืองเป็นฐานปฏิบัติการบินแทนสุวรรณภูมิ ซึ่งนอกจากสร้างความคึกคักให้แล้วยังลดความแออัดที่สุวรรณภูมิลงได้อีกด้วย

และในปี 2556 ไทยแอร์เอเชียมีแผนจะรับเครื่องบินใหม่อีก 7 ลำ ซึ่งจะทำให้มีฝูงบินเพิ่มจาก 27 ลำเป็น 34 ลำ และจะทยอยรับมอบจนครบ 48 ลำ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ไม่รวมกับที่บริษัทแม่แอร์เอเชีย ได้สั่งซื้อเครื่องบิน แอร์บัส เอ 320 ล็อตใหญ่อีก 100 ลำ ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งนำมาใช้ที่ไทยแน่นอน

โดยหากประเมินจากแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ในปี 56-60 วงเงินลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคนต่อปี และเฟส 3 ในปี 59-64 รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 75 ล้านคน ต่อปีและเฟส 4 เพิ่มเป็น 100 ล้านคนต่อปี กับการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการก่อสร้างในเฟส 1 ยังจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านไม่หมด ทั้งที่เปิดใช้สุวรรณภูมิครบ 6 ปีแล้ว จะเป็นตัวปัญหาสำคัญที่จะให้เฟส 2,3,4 ยิ่งล่าช้า

ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท.มีแผนพัฒนาปรับปรุงที่ค่อนข้างชัดเจนและไม่มีปัญหาเหมือนสุวรรณภูมิ รอระดับนโยบายไฟเขียวเท่านั้น โดยระยะ 2 ปี 56-59 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจาก 16.5-18.5 ล้านคนต่อปีเป็น 27.5 ล้านคนต่อปีจนถึงปี 2570 โดยจะมีการเปิดใช้อาคาร 2 ปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน 5 ปรับปรุงหลุมจอดประชิดอาคารเทียบเครื่องบิน 3-4 เป็น Code C ปรับปรุงอาคารที่จอดรถยนต์ 7 ชั้น รวมทั้งการปรับปรุงระบบสื่อสารและระบบสาธารณูปโภค

โดยนาวาอากาศตรีประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า การขยายขีดความสามารถทางกายภาพของสนามบินเพื่อรองรับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ แต่การจัดจราจรทางอากาศเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะที่ดอนเมืองน่าจับตาอย่างมาก เพราะก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 55 มีเที่ยวบินเฉลี่ย 230 เที่ยวบินต่อวัน ผ่าน 2 เดือนเพิ่มขึ้นเป็น 390 เที่ยวบินต่อวัน (เพิ่ม 9-10%)และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ ความหนาแน่นของเที่ยวบินเริ่มกระจายตลอดทั้งวันจากปกติที่เที่ยวบินจะหนาแน่นช่วงเช้าและเย็นเป็นส่วนใหญ่

“ขีดความสามารถของดอนเมืองตอนนี้แน่นสุดๆ ต่อชั่วโมงจะรับได้ประมาณ 40 เที่ยวบิน ซึ่งตอนนี้ช่วงแน่นสุดอยู่ที่30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ประมาณ 9.00-11.00น.และ17.00-19.00น. แต่ที่น่าแปลกคือ ตอนกลางวันถึงบ่ายเที่ยวบินก็ไม่ได้ลดลงไปมากนัก ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเป็นช่วง high season รวมถึงกลยุทธ์การตลาดของโลว์คอสต์ ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินในปี 56 จะเพิ่มที่ไม่น้อยกว่า 10% จากปี 55”นาวาอากาศตรีประจักษ์ กล่าว

สำหรับดอนเมืองนั้นจะรับเที่ยวบินได้สูงสุดที่ 500 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งแผนรองรับเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดจราจรทางอากาศของบวท.เช่น หารือกับกองทัพเรือ เพื่อใช้สนามบินอู่ตะเภามาช่วยสนับสนุนการบินของดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ที่อาจจะรองรับไม่เพียงพอ รวมถึง เจรจากับกองทัพอากาศเพื่อขอใช้พื้นที่ฝึกบินโรงเรียนการบินกำแพงแสนประมาณ 10 นอตติเคิลไมล์ ในการจัดจราจรทางอากาศที่ดอนเมืองให้มีความคล่องตัวและปลอดภัย แล้ว อีกโครงการที่สำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ วงเงิน 4,460.31 ล้านบาท ที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาระบบการจราจรทางอากาศให้ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางอากาศของประเทศ ให้มีความคล่องตัว ไม่เกิดความล่าช้าในการบินวนรอสำหรับการบินในประเทศและเข้า-ออกต่างประเทศ โดยมีอุปกรณ์นำร่อง รวมทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการบินด้วยระบบดาวเทียม

โดยจะเสร็จใน 3 ปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเส้นทางบินแออัดได้ เนื่องจากการคาดการณ์ พบว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 56 ไทยจะมีเที่ยวบินรวม 5.7 แสนเที่ยวบินต่อปี และภายใน10 ปี หรือในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 8 แสน - 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี แต่จะสูงกว่าคาดหรือไม่ สายการบินโลว์คอสต์ คือตัวแปรหลัก ส่วนที่ดอนเมืองจะถึง 500 เที่ยวบินต่อวันช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นกับว่าจะมีสายการบินโลว์คอสต์ย้ายจากสุวรรณภูมิมาเพิ่มอีกหรือไม่ เพราะดอนเมืองมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าสุวรรณภูมิ

ดังนั้น แนวโน้มการบินที่เปลี่ยนไปเป็นโจทย์สำคัญของทุกหน่วยงานโดยเฉพาะทอท.ผู้บริหารสนามบินประตูของประเทศไทย เพราะก่อนจะไปถึงเป้าหมายว่า “ประเทศคือศูนย์กลางการบินในภูมิภาค” วันนี้ทอท.ต้องตอบก่อนว่า ทอท.คือ ผู้นำธุรกิจท่าอากาศยานในภูมิภาคเอเชีย มีการดำเนิน ธุรกิจท่าอากาศยานด้วยมาตรฐานเหนือระดับ ให้บริการด้วยใจรัก พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน และทำได้ตามสโลแกน “ปลอดภัย คือ มาตรฐาน บริการ คือ หัวใจ”รึยัง?
กำลังโหลดความคิดเห็น