xs
xsm
sm
md
lg

AOC จี้พัฒนาขนส่งเชื่อมดอนเมือง หวั่น 1 ต.ค.วุ่น ทอท.เวิร์กชอปเจอปัญหาต้องแก้อีกเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“จารุพงศ์” สั่งทุกหน่วยทำแผนรับมือหวั่น 1 ต.ค.ดอนเมืองป่วน ดันสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อม “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง” ไม่เกินต้นปี 56 เล็งพัฒนาเพิ่มศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาและกำแพงแสนรับผู้โดยสารโลว์คอสต์ คาดโตก้าวกระโดด ตม.ฟุ้งเตรียม จนท. 400 นายประจำ 2 สนามบิน มั่นใจไม่มีคิว ด้าน AOC กังวลขนส่งเชื่อม 2 สนามบินวุ่น รอลุ้น 1 ต.ค. ทอท.ระดมความเห็นเร่งแก้ปัญหา พบต้องปรับปรุงอีกหลายเรื่อง ทั้งความปลอดภัยผู้โดยสาร ที่จอดรถ ระบบแสงสว่าง ป้ายบอกทาง และบริการรถสาธารณะ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Thailand Take off” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของท่าอากาศยานดอนเมืองเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 โดย ทอท.ได้เปิดเวทีรับฟังปัญหาและความพร้อมของทุกส่วนทั้งที่เป็นผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการซึ่งมีกว่า 30 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศุลกากร, ตรวจคนเข้าเมือง, สาธารณสุข, ด่านกักกันพืชและสัตว์, สายการบิน, แท็กซี่, ลิมูซีน, รถเมล์, ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ การให้บริการอากาศยาน, การให้บริการผู้โดยสาร, การให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ และการให้บริการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ให้เวลา ทอท. 1 สัปดาห์ในการรวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขในแต่ละกลุ่มและกำหนดผู้รับผิดชอบระยะเวลาแก้ไข โดยวันที่ 1 ตุลาคมดอนเมืองจะต้องพร้อมในการให้บริการเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ จะต้องวางแผนพัฒนาดอนเมืองในอนาคตเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยพบว่าในปี 2554 อัตราการเติบโตของผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประมาณ 5.7% คาดว่าปี 2562 จะเพิ่มเป็น 6-7% ดังนั้น ในระยะยาวอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานที่อยู่รอบกรุงเทพฯ เช่น อู่ตะเภา และกำแพงแสน มาช่วยรองรับการเติบโตที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมด้านการขนส่งทางอากาศให้ความสำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก โดยผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ดังนั้นแผนรองรับจะต้องชัดเจน โดยเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มี ซึ่งท่าอากาศยานดอนเมืองมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 36.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารเพียง 3.4 ล้านคนต่อปี จึงเหมาะสมที่จะย้ายสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และเส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point) จำนวน 14 สายกลับมา ซึ่งในปี 2550 ผู้โดยสารโลว์คอสต์มีประมาณ 5.3 ล้านคน คิดเป็น 13% ของผู้โดยสารทั้งหมด ปี 2554 เพิ่มเป็น 8.1 ล้านคน หรือ 17% ของผู้โดยสารทั้งหมด คาดอีก 5 ปีผู้โดยสารโลว์คอสต์จะเติบโตก้าวกระโดดที่ประมาณ 10%

สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ 14 สายที่จะย้ายกลับมาดอนเมืองนั้นมีเครือข่ายเส้นทางการบินในประเทศ 14 จังหวัด และ 20 เมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะมีการขยายไปยังจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดียเพิ่มขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมระบบขนส่งเชื่อมต่อ (Multi Modal) ซึ่งในช่วงแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสารต่อเครื่องประมาณ 10% เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก โดย ทอท.จัดบริการรถเวียนบริการฟรีสำหรับผู้โดยสารระหว่าง 2 สนามบิน รวมถึงรถลิมูซีน รถเมล์ และ บขส.ด้วย พร้อมกันนี้ จะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม.ให้ลงนามสัญญาก่อสร้างในปลายปีนี้หรือไม่เกินต้นปี 2556 เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง และมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งก่อสร้างถนนเชื่อมจากถนนวิภาวดี (ช่วงร้านเจ้เล้ง) กับถนนพหลโยธินซอย 49 ระยะทางประมาณ 2 กม. เพื่อต่อเชื่อมกับถนนของ กทม.(ถนนวัชรพล-ถนนจตุโชติ-มอเตอร์เวย์) ไปยังสุวรรณภูมิได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อดอนเมืองกลับมาให้บริการผู้โดยสารและเที่ยวบินมากขึ้น จึงไม่ควรดำเนินการตามแผนพัฒนา 6 กิจกรรมเดิมเพราะพื้นที่มีความแออัดขึ้น โดยศูนย์ซ่อมเครื่องบินจะมีเฉพาะของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้นจะย้ายไปดำเนินการที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา และจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีเพื่อผลิตบุคลากรด้านการบินด้วย

ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยืนยันความพร้อมของดอนเมือง โดยอาคารผู้โดยสารที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี รันเวย์ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย รองรับได้ 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอด 100 หลุมพร้อมใช้งาน คลังสินค้ารองรับได้ 2.2 แสนตันต่อปี

ตม.เตรียม จนท. 400 นายประจำ 2 สนามบิน

พล.ต.ต.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กล่าวว่า ที่ดอนเมืองมี ตม.ขาเข้า 26 ช่อง ขาออก 34 ช่อง ซึ่งมีการเตรียมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีก 400 นาย เพื่อเข้าประจำการทั้ง 2 ท่าอากาศยาน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติเพิ่มอัตรากำลังให้ ตม.อีก 356 ตำแหน่ง มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาความล่าช้าในการตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีคัดกรองล่วงหน้าเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การตรวจคนเข้าเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ด้านนาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า การบริหารจราจรทางอากาศเมื่อเปิดดอนเมืองเต็มรูปแบบคู่กับสุวรรณภูมิให้มีความสะดวกและปลอดภัยนั้น ดอนเมืองจะรองรับได้ที่ 140 เที่ยวบินต่อวัน แต่หลังจากที่กองทัพอากาศได้มอบระยะการบินของพื้นที่ฝึกบินโรงเรียนการบินกำแพงแสนให้ 10 นอตติเคิลไมล์ทำให้การจัดการจราจรทางอากาศที่ดอนเมืองเพิ่มเป็น 500 เที่ยวบินต่อวัน

AOC ห่วงขนส่งเชื่อม 2 สนามบินวุ่น รอลุ้น 1 ต.ค.

นางมาริสา พงษ์พัฒนพันธุ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (AOC) กล่าวว่า การใช้ดอนเมืองเพื่อช่วยลดความแออัดของสุวรรณภูมิเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ ซึ่งสายการบินมองว่าการเชื่อมโยงระหว่างดอนเมืองกับสุวรรณภูมิที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องสนับสนุนเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร โดยต้องใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งคงต้องรอดูหลังวันที่ 1 ตุลาคมว่าจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยใช้นโยบายสนามบินเดียวมาตลอด ส่วนสุวรรณภูมินั้นจะเป็นสนามบินหลักและสำคัญมากในการเชื่อมต่อกับภูมิภาค ซึ่ง ทอท.จะต้องเร่งพัฒนาขยายเฟส 2 และเฟส 3 ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสัมมนา ปัญหาส่วนใหญ่ที่ต้องการการแก้ไข เช่น การจัดระเบียบการจอดเพื่อรองรับขีดความสามารถของเครื่องบิน การประกาศเขตลานจอด ความสะดวกในการให้บริการภาคพื้น ปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงาน ในบริเวณที่จอดรถและอาคาร และที่สาธารณะต้องมีการปรับปรุงให้มีแสงสว่างเพียงพอ มีความสะอาดสวยงาม ต้องปรับเพิ่มขนาดและจำนวนที่จอดรถให้เพียงพอ เร่งประชาสัมพันธ์เส้นทางต่างๆ ให้มีความชัดเจน และมีการแก้ไขโดยทำป้ายประชาสัมพันธ์ 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ รวมถึงเพิ่มการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ ส่วนการเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ พบว่าการเดินทางของผู้โดยสารที่ลงเครื่องหลังเที่ยงคืนไม่สะดวก และไม่มีที่วางสัมภาระขนาดใหญ่ของผู้โดยสารบนรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น ซึ่งประเด็นปัญหาที่ได้รวบรวมจากทุกฝ่ายในวันนี้จะมีการนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การบริการของท่าอากาศยานเป็นไปด้วยความสะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น