xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดบินไทยไฟเขียวตั้งไทยสมายล์เป็นบริษัทย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
บอร์ดการบินไทยเห็นชอบวางตำแหน่ง 3 สายการบินแบ่งฐานลูกค้าให้ชัดเจน แยกไทยสมายล์ตั้งเป็นบริษัทย่อย ดันนกแอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ สั่ง”สรจักร”ทำเป็นยุทธศาสตร์แผนธุรกิจปี 56 พร้อมแผนหารายได้เพิ่มจากหน่วยธุรกิจและแก้คาร์โก้ขาดทุน “อำพน”ฟุ้งฝ่าวิกฤตปีนี้มีกำไรแน่ “สรจักร”คาดปีหน้ารายได้โต11-12% ตั้งเป้าเพิ่มรายได้คาร์โก้ 20%

นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ประชุมบอร์ดการบินไทยเห็นชอบการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ของการบินไทย การบินไทยสมายล์ และสายการบินนกแอร์ โดยการบินไทยจะเน้นทำการบินในเส้นทางบินระยะไกล ให้บริการแบบ Premium Full Service ทั้งคุณภาพบริการและอาหาร เป็นสายการบินชั้น1 ด้วยฝูงบินที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide-body Fleet) ทั้ง A 380 และ B 777-300 ใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานการบิน

ส่วนการบินไทยสมายล์ เน้นเส้นทางบินระยะสั้น ให้บริการแบบ Regional Airline ดูแลผู้โดยสารระดับกลางที่ต้องการความสะดวกในเชิงธุรกิจ โดยจะมีการเพิ่มความถี่ เส้นทางในภูมิภาค ระยะเวลาบิน 2-3 ชั่วโมงและเส้นทางภายในประเทศ ในช่วงเวลาที่ยังมีความต้องการ โดยอาศัยและเสริมความแข็งแกร่งให้การบินไทยด้วยบานผู้โดยสารที่เดินทางแบบเชื่อมต่อเส้นทาง (Connecting Traffic) ของการบิน ใช้ฝูงบินลำตัวแคบ (Narrow-body Fleet) เช่น A320 ใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานการบิน ตั้งเป้าหมายเป็นสายการบินภูมิภาคชั้นนำของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการตั้งการบินไทยสมายล์เป็นบริษัทย่อย (Subsidiary Company) เพื่อให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ สายการบินนกแอร์ กำหนดให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค (Regional Low-Cost Carrier) ทำการบินด้วยเครื่องบินลำตัวแคบหรือขนาดเล็กกว่า เน้น Point-to-Point โดยมีใช้ฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยก โดยบอร์ดเห็นชอบการเพิ่มทุนสายการบินนกแอร์ จำกัด โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้นกแอร์มีเงินทุนเพียงพอในการจัดหาเครื่องบิน ขยายเส้นทางบิน และแข่งขันได้

นอกจากนี้บอร์ดได้ให้นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ทำแผนเพิ่มรายได้จากหน่วยธุรกิจ (Business Unit) รวมถึงบริษัทลูกที่การบินไทยเข้าไปลงทุน และหาแนวทางการนำทรัพย์สินที่มีนำมาใช้ประโยชน์สร้างรายได้ให้มากที่สุด,ปรับปรุงธุรกิจขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนให้กลับมามีกำไร และควบคุมค่าใช้จ่าย (Cost Control) ที่ไม่จำเป็นหรือส่วนงานที่ไม่กระทบต่อคุณภาพบริการและความปลอดภัย

นายอำพลกล่าวว่า ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2555 (มกราคม-กันยายน) มีกำไร 4,078 ล้านบาท โดยเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสาร 1.71 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 8.2% มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ย 73.5% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มี 65.7% ส่วนการบินไทยสมายล์ มี Cabin Factor 81.6% และในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก็น่าจะยังเติบโต เมื่อรวมผลการดำเนินงานตลอดทั้งปี 2555 ผลประกอบการจึงน่าจะมีกำไร แม้จะมีภาระค่าใช้จ่ายการรับมอบเครื่องบินใหม่ โดยจำนวนจองตั๋วล่วงหน้าอยู่ในระดับที่ดี

“ช่วงเดือนมิ.ย.การบินไทยมีปัญหามาก ตัวเลขรายจ่ายสูงกว่าประมาณการ 1,100ล้านบาท รายได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,400 ล้านบาท และเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงสุดคืออยู่ที่ 127 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่วันนี้มีกำไร ถือว่ากลับสู่ภาวะที่บริหารจัดการได้ โดยบอร์ดได้ตั้งคณะทำงานพิเศษอีกชุดเพื่อดูแลเรื่องราคาน้ำมัน”นายอำพนกล่าว

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยกล่าวว่า การแยกไทยสมายล์ออกเป็นบริษัท ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม โดยบอร์ดต้องการให้การบริหารมีความคล่องตัว เพราะการบินแข่งขันกันสูง และต้องยึดหลักว่าการบินไทยจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนการนำสายการบินนกแอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีการลดสัดส่วนหุ้นอย่างไรนั้น การบินไทยจะยึดหลักต้องได้ผลประโยชน์เท่าเดิม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้

ส่วนธุรกิจคาร์โก้นั้น ยังมีโอกาสในการเพิ่มรายได้ โดยตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2556 ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2555 ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งน่าจะเริ่มมีกำไร จากทปัจจุบันที่ยังขาดทุน โดยจะหาทางแก้ข้อจำกัด ของเครื่อง A 380 ที่มีส่วนของคาร์โก้เล็กลง ส่วนผลประกอบการในปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 2.02 แสนล้านบาท ส่วนกำไรอาจจะต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ส่วนปี 2556 ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 11-12% หรือมีรายได้รวมประมาณ 2.23-2.24 แสนล้านบาท เนื่องจากจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากเครื่องบินใหม่ที่จะรับมอบอีก 17 ลำ และตั้งเป้าหมายเพิ่มการขายตั๋วผ่านทางอินเตอร์เน็ต จาก 9% เป็น 15% ในปีหน้าด้วย

นายสรจักรกล่าวว่า ในวันที่ 17 พ.ย.นี้จะประชุมเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์บริษัทให้ชัดเจนทุกเรื่องตามที่บอร์ดได้มอบหมาย และนำเสนอที่ประชุมบอร์ดร่วมกับฝ่ายบริหาร (Work Shop) ในวันที่ 15 ธ.ค. 2555 เพื่อกำหนดเป็นแผนธุรกิจของบริษัทในปี 2556 และเป็นกรอบในการประเมินการทำงานของตนเองด้วย

“ที่ผ่านมาการบินไทยได้ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปมากแล้ว ดังนั้นการควบคุมค่าใช้จ่ายจะเน้นในการสร้างรายได้เพิ่มเป็นหลักก่อน ส่วน ต้นทุนด้านน้ำมันที่มีถึง 40% ของต้นทุนทั้งหมดนั้น จะต้องหาทางลดลงอีก รวมถึงการบริหารความเสี่ยงซึ่งได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้า (Hedging) ไปถึงปี 2556 แล้วประมาณ 50-60% และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จะมีการประเมินผลการดำเนินงานในทุกไตรมาสทั้งรายได้ Cabin Factor แยกเป็นรายเส้นทาง โดยจะกำหนดเส้นทางนำร่องเช่น ญี่ปุ่น 1-2 เส้นทาง ยุโรป 1-2 เส้นทาง และออสเตรเลีย 1 เส้นทาง เป็นต้น"นายสรจักรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น