xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วม-วิกฤตยูโรกระทบไทยคาร์โก้รายได้หลุดเป้า แฟกเตอร์ยอดตก ทุ่มซื้อไอทีวางระบบสินค้าใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิชัย จึงอนุวัตร กรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
พิษน้ำท่วม วิกฤตยูโรกระทบคาร์โก้การบินไทยปี 55 รายได้ลด 5% ไม่ถึงเป้า 3 หมื่นล้าน เหตุเครื่องบินสินค้า 2 ลำ Load Factor ต่ำ แถมเจอขนส่งทางถนนแย่งลูกค้า ปรับแผนปี 56 ซื้อระบบไอทีให้มืออาชีพบริหารคลังสินค้าและพื้นที่ขนส่งทุนปีละ100 ล้าน ตั้งเป้าคืนทุนใน 3 ปี ยึดพื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินผู้โดยสารขนสินค้า เล็งเปิดตลาดใหม่ตามเส้นทางบินใหม่

นายพิชัย จึงอนุวัตร กรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศลดลง และกระทบต่อผลประกอบการด้านขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ในปี 2555 ของการบินไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยรายได้ลดลง 5% จากประมาณการที่ 30,000 ล้านบาท ส่วนกำไรตั้งไว้ที่ 500 ล้านบาทอาจทำไม่ได้ โดยทั้งปีมีการขนส่งสินค้าเกือบ 7 แสนตัน สาเหตุหนึ่งมาจากเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) จำนวน 2 ลำที่ดัดแปลงมาจากเครื่องบินแบบโบอิ้ง 747-400 รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เพียง 70% จากที่ตั้งไว้ประมาณ 75%

ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมนอกจากทำให้ผู้ผลิตในประเทศส่งออกลดลงแล้ว ยังมีการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลายอย่างไปยังอินโดนีเซียและประเทศอื่นแทน นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางรถยนต์ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะได้เปรียบในเรื่องราคา และความสะดวกเพราะขนส่งแบบ Door to Door ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสินค้าประเภทฮาร์ดดิสก์ที่การบินไทยเคยขนส่งค่อนข้างมากเนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตของโลกถึง 50% ย้ายไปขนส่งทางถนนมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) การบินไทยได้ลงนามในสัญญากับบริษัท DANATA (Mercator) หรือเมอร์เคเตอร์ ให้จัดทำและปรับปรุงระบบสารสนเทศด้านขนส่งสินค้าใหม่ทดแทนระบบเก่าที่ใช้งานมากว่า 30 ปี โดยเป็นการซื้อสิทธิการใช้ระบบของผู้ให้บริการ (Hosting Service) วงเงินประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี อายุสัญญา 8 ปี (ยกเลิกหลังครบ 5 ปี) เริ่มใช้ระบบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่ให้การขนส่งทางอากาศเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเฟรต (e-freight)

“ค่าใช้จ่ายของระบบใหม่สูงกว่าระบบเก่า แต่ทันสมัยกว่าสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตั้งแต่ลูกค้า Booking เข้ามาแบบ Real Time ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้ว่ามีสินค้าล่วงหน้าแค่ 3 วัน ทำให้วิเคราะห์และวางแผนการตลาดได้ดี เลือกสินค้าที่สร้างรายได้และใช้พื้นที่ในแต่ละเที่ยวบินมีประสิทธิภาพ การบริหารคลังสินค้ามีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน สร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าเพราะสามารถบริหารจัดการสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า หรือ Time to the Market ส่วนราคานั้นตลาดจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งหากบริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าจะแข่งขันได้ โดยมั่นใจว่าจะคุ้มทุนใน 3 ปี และมีกำไรในปีที่ 4” นายพิชัยกล่าว

สำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า 2 ลำนั้น ขณะนี้มีการให้บริการ 1 ลำใน 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เดลี-แฟรงก์เฟิร์ต, กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต, กรุงเทพฯ-โตเกียว-ไทเป, กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ส่วนอีกลำอยู่ระหว่างเจรจาให้เช่า โดยแนวทางการบริหารคาร์โก้ในปี 56 จะเน้นการขนส่งใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของการบินไทยซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย 20 ตันต่อเที่ยวบิน เพราะบริหารได้ง่ายกว่าเครื่องบินบรรทุกสินค้าที่ต้องหาสินค้าให้ได้ 100 ตันต่อเที่ยวบินจึงมีสัดส่วนเพียง 5-10% ในการขนส่งเท่านั้น ทั้งนี้ มองว่าในปี 56 จะเปิดตลาดคาร์โก้ใหม่ๆ ตามเส้นทางบินของบริษัทที่เปิดใหม่ โดยตั้งเป้ารายได้โตประมาณ 5% และเชื่อว่าภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจยุโรปไม่น่าจะนานมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น