“คมนาคม”สั่ง ทอท.และการท่าเรือฯ ปรับเป้าตัวชี้วัดแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ใหม่ มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังและฟรีโซนสุวรรณภูมิ แก้จุดคอขวดเส้นทางเข้า-ออก “ชัชชาติ”เรียก การท่าเรือฯถกแผนแหลมฉบังเฟส 3 สัปดาห์หน้า แก้ปัญหาผลกระทบประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์คมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ วานนี้ (25 ก.ค.) ว่า จะต้องมีการทบทวนแผนและกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เหมาะสมใหม่ โดยยึดผู้ใช้บริการเป็นหลัก ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะประชุมเพื่อติดตามปัญหาของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และการพัฒนาทลฉ.เฟส 3 รวมถึงโครงข่ายคมนาคมทางถนนที่เชื่อมต่อว่ามีปัญหาอุปสรรค และมีจุดคอขวดตรงไหนบ้าง โดยจะต้องดูผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่หลายร้อยครอบครัวที่คัดค้านการก่อสร้างเฟส 3 อันเนื่องมาจากการแก้ปัญหาผลกระทบในเฟส 2 ยังไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ รวมถึงการพัฒนาของผู้ประกอบการเอกชนที่รับสัมปทานในเฟส 2 ที่ยังไม่ครบตามสัญญา ซึ่งทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)จะต้องชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด
ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นประตูหลักของการส่งออกประมาณ 20% รองจาก ทลฉ. ซึ่งตามแผนสุวรรณภูมิมีขีดรองรับสินค้า 3 ล้านตันต่อปี โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จะต้องประเมินประมาณสินค้าและการเติบโตที่ชัดเจน ว่าจะเต็มความจุเมื่อใด เพื่อทำแผนรองรับเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกของประเทศ ซึ่งปัญหาของทอท.คือ ให้สัมปทานเอกชนบริหารคาร์โก้ และแผนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ไม่มีการเพิ่มขีดความสามารถในส่วนของคาร์โก้
ด้านนายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์คมนาคม จะเป็นการพัฒนาส่งเสริมประตูการค้าหลักของประเทศคือท่าเรือและสนามบิน ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายได้นั้นจะต้องแก้ปัญหาอุปสรรคและจุดคอขวดต่างๆ โดยในส่วนของ กทท. จะต้องปรับเป้าหมายตัวชี้วัดการให้บริการใน ทลฉ.ใหม่ เช่น เสนอว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะลดระยะเวลาในการเทียบท่าของเรือขนาด 800 TEU เฉลี่ยจาก 11.5 ชั่วโมงในปัจจุบันเป็น 20.50 ชั่วโมง หรือลดประมาณปีละ 10 นาที ซึ่งถือว่าน้อยไป โดยเห็นว่าควรลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการใช้เวลาจอดของเรือน้อยลงมากเท่าไรจะทำให้เพิ่มจำนวนเรือที่เข้าเทียบท่าได้เพิ่ม
ส่วนทอท.เสนอปรับลดเวลารถบรรทุกผ่านเข้าเขตปลอดภาษี(ฟรีโซน) และจุดตรวจสอบสินค้า จาก 3 นาทีเหลือ 1.5 นาทีนั้น เห็นว่า ทอท.จะต้องหาตัวชี้วัดการส่งออกสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) เพิ่ม เช่น การใช้พื้นที่คลังสินค้า ปริมาณสินค้าหมุนเวียน และรายได้ เป็นต้น
สำหรับการขนส่งทางถนนนั้น จะมีการกำหนดระยะเวลาการขนส่งขากต้นทางถึงปลายทาง โดยกำหนดตัวชี้วัดที่เข้าใจง่าย เข่น การขนส่งสินค้าจากกรุงเทพไปยังทลฉ.ไม่เกิน 2 ชั่วโมง , ส่วนการโดยสารจากกรุงเทพถึงสนามบินสุวรรณภูมิไม่เกิน 40 นาที โดยใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เป็นต้น เนื่องจากระยะเวลาในการเดินทางจะเป็นตัวกำหนดต้นทุนของผู้ประกอบการ
นายศิลปชัยกล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์คมนาคมเพื่อสนับสนุนโลจิสติกส์ของประเทศปี 2555-2559 ในภาพรวมจะมีการทบทวนในเรื่องการทำประชาพิจารณ์โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ภาคเอกชน ภาคราชการ สถานศึกษา ผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะใช้เวลาจัดทำแผนภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งในการจัดทำแผนมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมหารือด้วยเพื่อนำแผนด้านคมนาคมไปรวมอยู่ในแผนโลจิสติกส์ใหญ่ของประเทศ