xs
xsm
sm
md
lg

เร่งทอท.ขยายคลังสินค้าสุวรรณภูมิคาดอีก4ปีเต็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"คมนาคม"จี้ทอท.ขยายพื้นที่คลังสินค้าสุวรรณภูมิเผยอีก4ปีแออัดแน่ เหตุอัตราเติบโตสินค้าสูง ขณะที่2ผู้ประกอบการคาร์โก้รองรับได้แค่1.7 ล้านตันต่อปีเท่านั้น จ่อประมูลรายที่3 เน้นมืออาชีพ เพื่อแข่งขันเพิ่มประสิทธิภาพบริการชี้คลังสินค้าไม่ใช่ธุรกิจหลักของการบินไทย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับปริมาณสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก คลังสินค้าปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้สูงสุดเพียง 1.7 ล้านตันต่อปีการพัฒนายังไม่เต็ม 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากไม่ดำเนินการคลังสินค้าจะเต็มขีดความสามารถภายใน4 ปีนี้ดังนั้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.จะต้องพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาความแออัดอย่างไร เช่น ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมขยายพื้นที่หรือเปิดประมูลสัมปทานรายใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่ม

ทั้งนี้ ในปี2554 มูลค่าการส่งออกทางอากาศ ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีสัดส่วนถึง  24% หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) โดยเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและมีแนวโน้มการเติบโตสูงขณะที่ขีดความสามารถของคลังสินค้ามีเพียง 1.7ล้านตันต่อปีโดยปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานจาก ทอท.2 รายคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คลังสินค้ามีพื้นที่รองรับสินค้า 1.2 ล้านตันต่อปีปัจจุบันมีปริมาณสินค้า 86% ส่วนบริษัท WFS-PG Cargo จำกัด ( บางกอกไฟลท์เซอร์วิสเซส) มีพื้นที่รองรับสินค้า 0.5 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีปริมาณสินค้า64% โดยตาดว่า ภายในปี 2563 ปริมาณสินค้าทางอากาศจะเพิ่มเป็น 3.2 ล้านตันต่อปี

"จากที่นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาได้พูดถึงปัญหาคลังสินค้าโดยเกรงว่าถ้าไม่มีการพัฒนาจะเกิดความแออัดและกระทบต่อการให้บริการซี่งทอท.จะต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะการพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส2 ไม่มีเรื่องการขยายคาร์โก้ และการย้่ายสายการบินบางส่วนไปสนามบินดอนเมืองเน้นเรื่องผู้โดยสาร นอกจากนี้ คลังสินค้าไม่ใช่ธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้กับการบินไทยซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลังสินค้ารายใหญ่อีกด้วย

นายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.กล่าวว่า ปริมาณสินค้าที่ส่งออกผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย (perishable) ขณะที่คลังสินค้าจะต้องมีทั้งพื้นที่ให้บริการ พื้นที่สำหรับเก็บสินค้าและเครื่องมือ ซึ่งแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถมีทั้งการให้ผู้ประกอบการ 2 รายเดิมขยายพื้นที่ โดยจะต้องพิจารณาศักยภาพการทำงานที่ผ่านมาประกอบ หรือเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายที่3 ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขออนุมัติ ซึ่งการมีรายที่ 3 มีข้อดีเพราะจะทำให้เกิดการแข่งขัน บริการมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้การให้บริการคลังสินค้าต้องให้ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ทั่วโลกเพื่อผลักดันให้สุวรรณภูมิเป็นฮับ เพราะคลังสินค้าไม่ใช่ธุรกิจหลักของสายการบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น