xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยยังวิกฤต ยูโรโซนจ่อกระทบคาร์โก้ บอร์ดถกยุทธศาสตร์ปรับแผนกู้รายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อำพน”เผยการบินไทยยังวิกฤต ยูโรโซนเริ่มกระทบต่อการขนส่งสินค้า (Cargo) เรียกถกยุทธศาสตร์ 14 ก.ค.นี้ หาแนวทางทำให้รายได้ช่วง 6 เดือนหลังให้เป็นไปตามเป้าหมาย ย้ำการบินไทยเดินหน้า 3 บริการหลัก คือการบินไทย,ไทยสมายล์และนกแอร์ ส่วนตั้งโลว์คอสต์ฯ ยังไม่เสนอมาที่บอร์ด

นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ในวิกฤติ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายหลายรายที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนไว้ก่อน นอกจากนี้บริษัทเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซนในการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (คาร์โก้) แล้ว ดังนั้นในวันที่ 12 กรกฎาคม จะมีการประชุมยุทธศาสตร์บริษัท เพื่อพิจารณา 1. แนวทางที่จะทำให้รายได้และผลประกอบการของบริษัทกลับมาเป็นไปตามประมาณการณ์ที่วางไว้เดิม 2. ความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากตลาดการเงินยังมีความผันผวน 3. ความเสี่ยงของราคาน้ำมัน 4. ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป 5. ผลกระทบยูโรโซนต่อตลาดในภูมิภาค เป็นต้น

“ผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 255 มีตัวเลขหลายตัวที่ไม่สะท้อนแนวทางการปรับปรุงบริษัทในช่วงวิกฤติ ทำให้ในการประชุมบอร์ด บริษัท วันที่ 13 ก.ค.ยังไม่สามารถพิจารณาตัวเลขผลประกอบการในเดือนมิถุนายนได้ โดยในภาพรวม อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) จะยังอยู่ในระดับที่ดี ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 55 บอร์ดจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมปลายเดือนก.ค.นี้ ก่อนรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ต่อไป”นายอำพนกล่าวว่า

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของบริษัทจะแบ่งความชัดจนในการบริการ 3 กลุ่ม คือ 1.สายการบินไทย เป็น Original Thai ให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายระดับพรีเมี่ยม ทั้งในและต่างประเทศ 2.หน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ ให้บริการในระดับกลาง และ 3. สายการบินนกแอร์ ที่ใช้ท่อากาศยานดอนเมืองเป็นฐานให้บริการสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งการบินไทยถือหุ้นในนกแอร์ 49% สามารถทำกำไรให้บริการได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจะเดินหน้าผลักดันการให้บริการของทั้ง 3 กลุ่มให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้นและผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

ส่วนการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ( โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ในขณะนี้ยังไม่มีการเสนอแผนเข้ามาให้บอร์ดพิจารณายังไม่อยู่ในแผนการพิจารณาของบอร์ด ซึ่ง 1 สัปดาห์หลังจากการเปิดให้บริการ การบินไทยสมายล์ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา น่าพอใจโดยตลาดให้การตอบรับที่ดีมาก โดย Cabin Factor เกินเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนยอดจองตั๋วล่วงหน้า (Booking) เป็นไปตามแผน นอกจากนี้ เนื่องจากการบินไทยสมายล์ ใช้เครื่องบิน แอร์บัส A 320 ที่มีต้นทุนค่าเครื่องบิน 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องบิน A 330 ที่ราคา 150-180 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าถึง 50% และยังมีความคล่องตัวในการหมุนเวียนเครื่องและค่าบริการภาคพื้นี่ถูกกว่า ซึ่ง จะมีการเปิดบินเพิ่มในเส้นทางภายในประเทศ เส้นทางในภูมิภาคระยะเวลาบิน 1-2 ชั่วโมง ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น