xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้โดยสาร...ป่วน! ม็อบบินไทยไล่ “อำพน” จัดหนัก “ล้วงลูก-แทรกแซง-ลุแก่อำนาจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องยอมรับว่า การชุมนุมประท้วงของพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นการขัดแย้งภายในองค์กร ประท้วงกันภายในบริษัท ไม่ลุกลามขยายไปจนกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ทันทีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นประธานประชุมเสร็จสิ้น และมีข่าวสะพัดในหมู่พนักงานว่า ผลประกอบการปี 2555 ที่ออกมานั้น จะสามารถจ่ายโบนัสประจำปีให้ได้เพียง 1 เดือน และปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีได้เพียง 4% เท่านั้น ในช่วงบ่าย ม็อบพนักงานการบินไทยหลายร้อยคนก็เริ่มต้นและลุกลามขยายวงสร้างผลกระทบมากขึ้น เมื่อข้อเรียกร้องของพนักงานไม่ได้รับการตอบสนอง

โดยเฉพาะการให้นายอำพน ในฐานะประธานบอร์ดมาชี้แจงด้วยตัวเอง กรณีจ่ายโบนัส 1 เดือนและขึ้นเงินเดือนประจำปี 4 % โดยพนักงานเห็นว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับพนักงานและขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานไม่เกิน 7.5% ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนปรับขึ้นเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 6.5%ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อมูลข่าวสารที่นายอำพนเป็นผู้สื่อสารกับพนักงานมาโดยตลอดและล่าสุดบอกว่า ผลประกอบการปี 2555 บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 7,000 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นตัวเลขนี้ พนักงานก็ควรจะได้รับโบนัสที่ 2 เดือน ไม่ใช่ 1 เดือน

แม้ว่าในช่วงเย็น นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ได้เจรจากับพนักงานโดยให้ยอมรับมติบอร์ด ยิ่งสร้างความไม่พอใจกับพนักงานมากขึ้น และทำให้พนักงานเริ่มใช้มาตรการกดดัน โดยยกระดับจากการชุมนุมธรรมดาๆ ซึ่งไม่มีนัดหยุดงานใดๆ โดยใช้วิธีการทำงานแบบ Slow down ซึ่งก็เห็นผลเมื่อเที่ยวบินของการบินไทยเริ่มล่าช้ากว่าตารางบินตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืน (00.01-17.00 น.) ของวันที่ 19 มกราคม 2556 โดยการบินไทยแจ้งว่ามีเที่ยวบินล่าช้ารวม 23 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 24 เที่ยวบิน จากทั้งหมด 64 เที่ยวบิน เฉลี่ยระยะเวลาล่าช้าเที่ยวบินละประมาณ 31 นาที ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศล่าช้า 8 เที่ยวบิน จากทั้งหมด 23 เที่ยวบิน เฉลี่ยล่าช้าเที่ยวบินละประมาณ 25 นาที

ในขณะที่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะงานที่ติดขัดเป็นงานเฉพาะด้านที่ต้องใช้พนักงานที่มีไลเซนต์ คือ พนักงานขับรถยกขนสัมภาระ จากอากาศยานมายังใต้อาคารผู้โดยสาร แม้ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จะประสานกับทหารและจัดพนักงานทอท.เข้ามาช่วยยกกระเป๋าก็ทำได้ แค่ก็ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

“ผู้โดยสารต้องใช้เวลารอกระเป๋ากันยาวนาน บางเที่ยวบิน รอกัน 2 ชั่วโมง”

ที่น่าตกใจ คือ พนักงานที่มาชุมนุมมีจำนวนไม่มาก แต่การเคลื่อนไหวแบบพร้อมเพรียง พุ่งไปที่การทำงานของพนักงานภาคพื้นในแต่ละจุด ทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายโดยเฉพาะภาพลักษณ์ของการบินไทยอย่างมาก

พอจะสรุปได้ว่า การที่พนักงานการบินไทยพร้อมใจกันแบบนี้ เพราะเหลืออด ถูกลดสิทธิประโยชน์ โดนเข้ากับตัวเองเต็มๆ กันทุกคน โดยพนักงานให้ความเห็นว่า สู้ทำงานหนักมาทั้งปี ให้ความร่วมมือกับบริษัทในการลดค่าใช้จ่ายๆ ก็หวังว่า สิ้นปีจะมีผลตอบแทนที่เป็นธรรม แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าถูกหลอก ในขณะที่บอร์ดไม่เคยตัดทอนผลประโยชน์ของตัวเองลงเลย มีกำไรเท่าไร ตัดไปเลย .05% แต่ทำงานแสนสบายกว่าพนักงานหลายเท่า

ย้อนกลับไปดู การชุมนุมประท้วงของการบินไทย ยุค อำพน เป็นประธานบอร์ด มีหนที่เหมือนจะรุนแรง คือเมื่อ มิถุนายน 2555 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งมีสมาชิก 41 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ มาชุมนุม ที่สำนักงานใหญ่การบินไทยเพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำพน ให้ชี้แจงพนักงานและสาธารณชนกรณีเลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ครั้งนั้นเพราะมีแรงฝ่ายการเมืองสนับสนุน”อำพน” เก้าอี้ประธานก็เลยยังมั่นคง

ย้อนกลับไปอีก เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 เป็นการชุมนุมของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและพนักงานฝ่ายช่าง แต่คู่กรณีเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ประธานบอร์ด โดยพนักงานเรียกร้องยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการบนเครื่องบิน ซึ่งจะมีการลดจำนวนลูกเรือต่อเที่ยวบิน ,ลดวันพักในสถานีต่างประเทศ เพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานคุณภาพการบริการบนเครื่องบิน และมาตรการดังกล่าวทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มในระยะสั้น ซึ่งครั้งนั้น นายอำพน ได้ชี้แจงต่อพนักงานเอง ซึ่งพนักงานไม่ได้ยกระดับการชุมนุม

แต่! การประท้วงที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารเดือดร้อนนั้น ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเมื่อปี 2539 รัฐบาลมีนโยบายเรื่องแปรรูปคาร์โก้ ครั้งนั้นมีการปิดคลังสินค้าไป 1 วัน สินค้าสุดโกลาหล ต่อมาประมาณปี 2541-2542 รัฐบาลขณะนั้น จะขายหุ้นฝ่ายช่างให้กับสิงคโปร์ พนักงานฝ่ายช่าง ใช้วิธี Slow down การทำงาน แค่ 2 ชั่วโมง ทำให้เที่ยวบินได้รับกระทบ เพราะการตรวจสอบก่อนปล่อยเครื่องทำการบินของฝ่ายช่างล่าช้ากว่าปกติ

จะเห็นว่าการประท้วงที่ผ่านมา เกิดจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล แต่หนนี้ปัญหามาจากการบริหารจัดการของประธานบอร์ด ที่ไปกระทบกับสิทธิของพนักงานตรงๆ ซึ่งสหภาพฯการบินไทยออกโรงขับไล่ประธานบอร์ด ให้พิจารณาตัวเองด้วย

“ครั้งปลดนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอกว่าเพราะสื่อสารกับบอร์ดไม่เข้าใจ หนนี้ พนักงานไล่ประธานเพราะสื่อสารกับพนักงานไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการ พูดตลอดเวลาว่าดีแต่เอาเข้าจริงไม่เป็นอย่างที่พูดเลย ประธานบอร์ดไม่เคยเห็นความสำคัญของพนักงาน อยากทำอะไรก็ทำ วันนี้ประธานบอร์ดคือปัญหาของการบินไทย”

ก็คงต้องจับตาว่าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จะมีมติเป็นไปตามข้อตกลงร่วมที่ฝ่ายบริหารได้ทำร่วมกับสหภาพฯการบินไทย ไว้หรือไม่ ทั้งเรื่อง การขึ้นเงินเดือนประจำปีสำหรับพนักงานระดับ 1-7 เฉลี่ย 7.5% ของฐานเงินเดือนผู้มีสิทธิ (ไม่รวมภาษี) และเพิ่มวงเงินเบี้ยขยันให้กับพนักงานทั้ง 26,000 คน จาก 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท รวมถึงกรณีล่าสุดที่ มีการตัดเงินค่าไลเซนต์ฝ่ายช่างและค่าวิชาชีพนักบินและลูกเรือที่เป็นฐานเงินเดือนที่ต้องมารวมเป็นโบนัสออกจากเงินครั้งนี้ ซึ่งประธานบอร์ดรับปากจะจ่ายกลับคืนให้ด้วยเพราะเป็นการกระทำที่ขัดสภาพการจ้างพนักงาน

หากบอร์ดผ่านฉลุยทุกข้อเรียกร้อง ก็ต้องดูว่า ไฟที่สหภาพฯจุด ขับไล่ “อำพน” จะยังคงร้อนแรงอยู่ หรือจะมอดไป เพราะพนักงานได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว ....ขณะที่สหภาพฯยืนยัน ความมุ่งมั่นขับไล่ประธานบอร์ด”อำพน”ออกไปจากการบินไทยแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น