xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ บินไทยชี้ “อำพน” ต้นเหตุทำองค์กรป่วน ผู้โดยสารเดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สหภาพฯ การบินไทย” ยัน “อำพน” ต้องออก เตรียมยื่น รมว.คมนาคมแฉการทำงานผิดพลาดแน่ ชี้ทั้งแทรกแซง ลุแก่อำนาจ ล่าสุดตัดเงินค่าวิชาชีพนักบินลูกเรือและค่าไลเซนส์ฝ่ายช่าง ซึ่งผิดสภาพการจ้างเพราะถือเป็นฐานเงินเดือนที่คิดโบนัส สุดท้ายต้องยอมจ่ายกลับให้ย้อนหลัง “แจ่มศรี” เผยการเรียกร้องเพื่อพนักงานระดับล่างจริงๆ อยากให้ย้อนดูต้นตอมาจากประธานบอร์ดทั้งหมด ชี้เป็นโอกาสดีที่สังคมจะได้ตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับการบินไทย ด้าน “ชัชชาติ” สั่งประสาน ทอ.เตรียมรับมือหากเกิดเหตุซ้ำ ชี้ตัวแปรเครื่องบินดีเลย์คือพนักงานระวางบรรทุกของ

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 มกราคม เวลาประมาณ 17.30 น. นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้พบกับนายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางแจ่มศรีกล่าวภายหลังว่า ใช้เวลาพูดคุยเพียง 10 นาที โดยได้บอกกับนายอำพน 3 ข้อ คือ 1. ปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวประธานบอร์ดเองโ ดยให้พิจารณาตัวเองว่าควรจะดำเนินการอย่างไร 2. ให้ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีอัตรา 7.5 % ให้พนักงานระดับ 1-7 และขอให้ยุติการสร้างข่าวว่าขึ้นเงินให้พนักงานระดับ 1-7 แล้วทำให้ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ขึ้นเงินเดือน และ 3. เพิ่มวงเงินค่าเบี้ยขยันจาก  200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท และเกลี่ยให้กับพนักงานทุกคนเท่ากัน ซึ่งนายอำพนรับปากที่จะนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ 

“เป็นการพูดคุยด้วยวาจา บรรยากาศถือว่าดี เพราะมีนายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และฝ่ายบริหารทุกคนร่วมด้วย ซึ่งข้อเสนอที่ยื่นไปไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับเพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่บริษัทต้องจ่ายโบนัสและขึ้นเงินเดือนประจำปีในอัตราที่เหมาะสมให้กับพนักงาน โดยเบื้องต้นจะรอมติบอร์ดวันที่ 8 ก.พ.นี้ก่อนว่าจะออกมาอย่างไรจากนั้นสหภาพฯ จะประชุมสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีและการเคลื่อนไหวต่อไปหากบอร์ดไม่อนุมัติตามที่เสนอ ส่วนประธานบอร์ดจะลาออกไปเมื่อใดหรือไม่นั้นอยู่ที่จะพิจารณาตัวเอง ซึ่งนายอำพนอยู่การบินไทยมานาน น่าจะทราบวัฒนธรรมขององค์กรพอสมควร ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ควรจะรับผิดชอบอย่างไร” นางแจ่มศรีกล่าว

ส่วนการปรับลดโบนัสที่บอร์ดได้รับที่ 0.5% ลงเหลือ 0.2% นั้น นางแจ่มศรีกล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจะต้องยื่นเรื่องไปที่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าจะยื่นหนังสือต่อนายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม เพื่อให้พิจารณาปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดการบินไทย และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแสดงให้เห็นความผิดพลาดในการบริหารของประธานให้ผู้มีอำนาจทราบ

นางแจ่มศรีกล่าวว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของพนักงานทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนนั้น ต้องบอกว่าถ้าไม่เหลืออดจริงๆ สำหรับลูกจ้างแล้วก็คงไม่ทำแบบนี้ ปัญหาที่ทำให้กระทบมากเพราะการบินไทยขาดแคลนแรงงาน เพราะบอร์ดไม่อนุมัติงบจ้างพนักงาน ส่วนที่มีหลายฝ่ายระบุว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ก็ต้องบอกว่าสังคมจะได้ทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับการบินไทย เพราะจริงๆ ไม่ใช่แค่ค่าแรง แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการภายในที่ถูกแทรกแซง บังเอิญการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน เป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องของการเดินทาง เกิดอะไรกระแสจึงแรง จึงไม่เหมือนหน่วยงานอื่นที่เคลื่อนไหวเหมือนกัน ยืนยันว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อพนักงานระดับล่างจริงๆ 

“ปี 51 การบินไทยเจอวิกฤตขาดทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท แต่ปี 52 กลับทำกำไรได้ 7,000 ล้านบาท ต่อมาในปี 54 เจอปัญหาน้ำท่วมขาดทุน 1 หมื่นกว่าล้าน ปี 55 สถานการณ์ทุกอย่างดีหมดไม่มีปัญหาอะไร ประธานบอร์ดให้ข่าวตลอดว่าผลประกอบการดี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ดีมาก แต่ผลประกอบการที่ออกมาต่ำมาก แสดงว่าประธานให้ข่าวเท็จ เกิดอะไรขึ้นกับการบินไทย ตัวเลขที่เห็นกับตัวเลขที่ทราบจากประธานไม่ตรงกัน” นางแจ่มศรีกล่าว

พลาดอีกตัดค่าไลเซนต์ฝ่ายช่างและค่าวิชาชีพนักบินลูกเรือออกจากโบนัส

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม พนักงานการบินไทยได้รับทราบว่าจะได้รับโบนัสจำนวน 1 เดือน และจะสามารถกดเงินได้ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ แต่ปรากฏว่าพนักงานฝ่ายช่างที่มีไลเซนต์, นักบินและลูกเรือที่มีค่าวิชาชีพ ที่คิดเป็นฐานเงินเดือนจ่ายโบนัส แต่ถูกตัดเงินส่วนนี้ ซึ่งถือว่าผิดสภาพการจ้าง ซึ่งนางแจ่มศรีกล่าวว่า

ได้นำเรื่องนี้แจ้งในการหารือกับนายอำพนด้วย ซึ่งยอมรับว่าได้ตัดออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงยอมจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้และจ่ายคืนให้พนักงานฝ่ายช่างประมาณ 2,500 คน นักบินและลูกเรือประมาณ 1,800 คน คิดเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาที่แสดงให้เห็นว่าประธานบอร์ดลุแก่อำนาจ คิดว่าอยากทำอะไรก็ทำได้ 

รายงานข่าวแจ้งว่า นายอำพนไม่ได้แถลงข่าว โดยระบุว่ามีประชุมกับผู้บริหารการบินไทยต่อ 

ชัชชาติสั่งประสานกองทัพอากาศ พร้อมรับมือเหตุซ้ำรอย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทยจะต้องมีแผนฉุกเฉินเตรียมไว้ใช้กรณีเกิดเหตุพนักงานประท้วงจนส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารเหมือนเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยจะต้องเตรียมกำลังคนไว้ให้พร้อมบริการ ขณะเดียวกันก็อาจจะประสานกับกองทัพอากาศเพื่อให้บริการหากเกิดปัญหาการให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกิดขึ้นอีก
               
ทั้งนี้เห็นว่าการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกระเบียบ เตรียมข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ไว้ให้พร้อม เพื่อให้ตอบคำถามจากทางสหภาพฯ ได้กรณีที่ต้องการความชัดเจนในเรื่องอะไร โดยทุกเรื่องจะต้องตอบสังคมได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ก็จะส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นคลี่คลายลงได้ 
               
“ผู้บริหารเวลาทำอะไรก็ต้องชัดเจน โปร่งใส มีหลักฐานทุกอย่าง หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถนำออกมาชี้แจงได้ทันที ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น”
               
นายชัชาติกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทางฝ่ายบริหารกับสหภาพฯ ก็ต้องหารือร่วมกัน โดยเรื่องที่มีการยินยอมก็คงไม่ใช่ เพราะมีการประท้วง เนื่องจากประท้วงแล้วย่อมไม่ดี แต่ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในการพิจารณา ส่วนการเอาผิดพนักงานที่ไปประท้วงก็ให้หัวหน้างานในแต่ละฝ่ายไปพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้สั่งว่าจะต้องไปเอาผิดพนักงานที่ประท้วงทุกคน
               
“หัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดูตามมาตรฐานและระเบียบขอบเขตข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร คงจะสั่งให้เอาผิดกับทุกคนไม่ได้”
               
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฝ่ายนโยบายก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนเรื่องของเงินก็มีส่วนที่ดูแลอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหา
               
นางสาววิไลวรรณ นัดวิไล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานของการบินไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เข้าทำงานเป็นปกติแล้วประมาณ 90% จากช่วงที่มีปัญหามีพนักงานทำงานไม่ถึง 50% จึงไม่มีปัญหาเครื่องบินออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนด (ดีเลย์) จะมีดีเลย์บ้างก็เป็นเรื่องทางเทคนิคซึ่งถือเป็นปกติของแต่ละสายการบินอยู่แล้ว แต่ยังเป็นห่วงว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้นอีกจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการรองรับหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นทาง ทอท.ได้เตรียมไว้อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของบุคลากร และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร แต่จะมีปัญหาเฉพาะในส่วนของการบริการภาคพื้นที่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ที่ ทอท.ไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ จึงยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกในส่วนนั้นได้หากเกิดปัญหาเหมือนเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา
               
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า บริการภาคพื้นที่เป็นปัญหาในการให้บริการมากที่สุดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกรณีเกิดเหตุการณ์พนักงานหยุดงานประท้วง คือพนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุก หรือรถเทียบไฮท์โหลดเดอร์ ซึ่งเป็นรถที่วิ่งในท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการขนส่งสัมภาระของผู้โดยสารขึ้นและลงเครื่องบิน เพราะผู้ที่จะขับรถดังกล่าวได้ต้องผ่านการอบรมเป็นระยะเวลา 5-6 เดือนจึงจะได้รับใบอนุญาต หลังจากนั้นก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในท่าอากาศยานได้

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาคือ พนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุกของการบินไทยที่มีอยู่ประมาณ 100 คนทำงานไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่มีอยู่จึงส่งผลให้การขนถ่ายกระเป๋าของผู้โดยสารขึ้นและลงจากเครื่องบินเกิดความล่าช้า ส่วนพนักงานในส่วนอื่นๆ ยังปฏิบัติหน้าที่กันตามปกติ หากไม่ทำงานทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็สามารถนำบุคลากรที่มีอยู่ไปช่วยอำนวยความสะดวกได้ แต่ในส่วนของพนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุก ไม่มีใครสามารถจัดหาเพื่อเข้าไปดำเนินการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ทัน
             
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากต้องการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง จะต้องมีการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนเพื่อให้ทาง ทอท.ฝึกบุคลากรของตัวเองเพื่อเตรียมไว้ให้พร้อมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการฝึกอบรมจะต้องใช้ระยะเวลานาน ต้องมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่สามารถฝึกแล้วให้ทำหน้าที่ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยยอมรับว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนในวันที่ 19 มกราคมนี้อีก แต่จะพยายามช่วยอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารให้น้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น