xs
xsm
sm
md
lg

“อำพน”ต้องพ้นบินไทย แบงก์กท.ม็อบขอขึ้นเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “สหภาพฯ การบินไทย” ยัน ”อำพน” ต้องออก เตรียมยื่นรมว.คมนาคมแฉการทำงานผิดพลาดแน่ ชี้ตัดเงินค่าวิชาชีพนักบินลูกเรือและค่าไลเซนต์ฝ่ายช่าง “แจ่มศรี”เผยการเรียกร้องเพื่อพนักงานระดับล่างจริงๆ ด้าน”ชัชชาติ” สั่งประสานทอ. เตรียมรับมือหากเกิดเหตุซ้ำ ด้านสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ จี้ขอขึ้นเงินเดือนและคงโบนัส ลั่นยกระดับม็อบรุนแรงขึ้น

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 มกราคม เวลาประมาณ 17.30 น. นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย ได้พบกับนายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางแจ่มศรี กล่าวภายหลังว่า ใช้เวลาพูดคุยเพียง 10 นาที โดยได้บอกกับนายอำพน 3 ข้อ คือ 1. ปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวประธานบอร์ดเอง โดยให้พิจารณาตัวเองว่าควรจะดำเนินการอย่างไร 2. ให้ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีอัตรา 7.5 % ให้พนักงานระดับ 1-7 และขอให้ยุติการสร้างข่าวว่าขึ้นเงินให้พนักงานระดับ 1-7 แล้วทำให้ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ขึ้นเงินเดือน และ 3. เพิ่มวงเงินค่าเบี้ยขยันจาก 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท และเกลี่ยให้กับพนักงานทุกคนเท่ากัน ซึ่งนายอำพนรับปากที่จะนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

“เป็นการพูดคุยด้วยวาจา บรรยากาศถือว่าดี เพราะมีนายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และฝ่ายบริหารทุกคนร่วมด้วย ซึ่งข้อเสนอที่ยื่นไปไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับเพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่บริษัทต้องจ่ายโบนัสและขึ้นเงินเดือนประจำปีในอัตราที่เหมาะสมให้กับพนักงาน โดยเบื้องต้นจะรอมติบอร์ดวันที่ 8 ก.พ.นี้ก่อนว่าจะออกมาอย่างไร จากนั้นสหภาพฯจะประชุมสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีและการเคลื่อนไหวต่อไปหากบอร์ดไม่อนุมัติตามที่เสนอ ส่วนประธานบอร์ดจะลาออกไปเมื่อใดหรือไม่นั้นอยู่ที่จะพิจารณาตัวเอง ซึ่งนายอำพนอยู่การบินไทยมานาน น่าจะทราบวัฒนธรรมขององค์กรพอสมควร ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ ควรจะรับผิดชอบอย่างไร”นางแจ่มศรีกล่าว

ส่วนการปรับลดโบนัสที่บอร์ดได้รับที่ 0.5% ลงเหลือ 0.2% นั้น นางแจ่มศรีกล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจะต้องยื่นเรื่องไปที่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าจะยื่นหนังสือต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม เพื่อให้พิจารณาปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดการบินไทย

และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแสดงให้เห็นความผิดพลาดในการบริหารของประธาน ให้ผู้มีอำนาจทราบ

นางแจ่มศรีกล่าวว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของพนักงานทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนนั้น ต้องบอกว่า ถ้าไม่เหลืออดจริงๆ สำหรับลูกจ้างแล้วก็คงไม่ทำแบบนี้ ปัญหาที่ทำให้กระทบมากเพราะการบินไทยขาดแคลนแรงงาน เพราะบอร์ดไม่อนุมัติงบจ้างพนักงาน ส่วนที่มีหลายฝ่ายระบุว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ก็ต้องบอกว่า สังคมจะได้ทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับการบินไทย

เพราะจริงๆ ไม่ใช่แค่ค่าแรง แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการภายในที่ถูกแทรกแซง บังเอิญการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน เป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องของการเดินทางเกิดอะไรกระแสจะแรง จึงไม่เหมือนหน่วยงานอื่นที่เคลื่อนไหวเหมือนกัน ยืนยันว่า เป็นการเรียกร้องเพื่อพนักงานระดับล่างจริงๆ

“ปี 51 การบินไทยเจอวิกฤติขาดทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท แต่ปี 52 กลับทำกำไรได้ 7,000 ล้านบาท ต่อมาในปี 54 เจอปัญหาน้ำท่วมขาดทุน 1 หมื่นกว่าล้าน ปี 55 สถานการณ์ทุกอย่างดีหมดไม่มีปัญหาอะไร ประธานบอร์ดให้ข่าวตลอดว่าผลประกอบการดี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ดีมาก แต่ผลประกอบการ ที่ออกมาต่ำมาก แสดงว่า ประธานให้ข่าวเท็จ เกิดอะไรขึ้นกับการบินไทย ตัวเลขที่เห็นกับตัวเลขที่ทราบจากประธานไม่ตรงกัน”นางแจ่มศรีกล่าว

***ตัดค่าไลเซ็นส์ฝ่ายช่าง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม พนักงานการบินไทยได้รับทราบว่าจะได้รับโบนัสจำนวน 1 เดือนและจะสามารถกดเงินได้ในวันนี้ ( 23 ม.ค.) นี้ แต่ปรากฎว่า พนักงานฝ่ายช่างที่มีไลเซนต์,นักบินและลูกเรือ ที่มีค่าวิชาชีพ ที่คิดเป็นฐานเงินเดือนจ่ายโบนัส แต่ถูกตัดเงินส่วนนี้ ซึ่งถือว่าผิดสภาพการจ้าง ซึ่งนางแจ่มศรี กล่าวว่า

ได้นำเรื่องนี้แจ้งในการหารือกับนายอำพนด้วย ซึ่งยอมรับว่า ได้ตัดออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องไม่ถูกต้องจึงยอมจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้และจ่ายคืนให้กับพนักงานฝ่ายช่างประมาณ 2,500 คน นักบินและลูกเรือประมาณ 1,800 คน คิดเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาที่แสดงให้เห็นว่า ประธานบอร์ดลุแก่อำนาจ คิดว่าอยากทำอะไรก็ทำได้

รายงานข่าวแจ้งว่า นายอำพน ไม่ได้แถลงข่าว โดยระบุว่า มีประชุมกับผู้บริหารการบินไทยต่อ

***ชัชชาติ สั่ง ประสานกองทัพอากาศ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทย จะต้องมีแผนฉุกเฉินเตรียมไว้ใช้กรณีเกิดเหตุพนักงานประท้วงจนสงกระทบต่อผู้โดยสารเหมือนเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยจะต้องเตรียมกำลังคนไว้ให้พร้อมบริการ ขณะเดียวกันก็อาจจะประสานกับกองทัพอากาศ เพื่อให้บริการหากเกิดปัญหาการให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้เห็นว่าการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกระเบียบ เตรียมข้อมูลการดำเนินการต่างๆไว้ให้พร้อม เพื่อให้ตอบคำถามจากทางสหภาพฯได้กรณีที่ต้องการความชัดเจนในเรื่องอะไร โดยทุกเรื่องจะต้องตอบสังคมได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ก็จะส่งผลให้ปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นคลี่คลายลงได้

“ผู้บริหารเวลาทำอะไร ก็ต้องชัดเจน โปร่งใส มีหลักฐานทุกอย่าง หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถนำออกมาชี้แจงได้ทันที ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น”

นายชัชาติ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทางฝ่ายบริหารกับสหภาพฯก็ต้องหารือร่วมกัน โดยเรื่องที่มีการยินยอมก็คงไม่ใช่ เพราะมีการประท้วง เนื่องจากประท้วงแล้วยอมไม่ดี แต่ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในการพิจารณา ส่วนการเอาผิดกับพนักงานที่ไปประท้วงก็ให้หัวหน้างานในแต่ละฝ่ายไปพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร
เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้สั่งว่าจะต้องไปเอาผิดกับพนักงานที่ประท้วงทุกคน

“หัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดูตามมาตรฐานและระเบียบขอบเขตข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร คงจะสั่งให้เอาผิดกับทุกคนไม่ได้”

นางสาววิไลวรรณ นัดวิไล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานของการบินไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เข้าทำงานเป็นปกติแล้วประมาณ 90% จากช่วงที่มีปัญหามีพนักงานทำงานไม่ถึง 50% จึงไม่มีปัญหาเครื่องบินออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนด(ดีเลย์) จะมีดีเลย์บ้างก็เป็นเรื่องทางเทคนิค
ซึ่งถือเป็นปกติของแต่ละสายการบินอยู่แล้ว แต่ยังเป็นห่วงว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้นอีกจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการรองรับหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น ทาง ทอท.ได้เตรียมไว้ยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของบุคคลากร และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร แต่จะมีปัญหาเฉพาะในส่วนของการบริการภาคพื้นที่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต(ไลน์เซ่น) ที่ ทอท.ไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ จึงยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกในส่วนนั้นได้หากเกิดปัญหาเหมือนเมื่อวันที่ 19
มกราคมที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า บริการภาคพื้นที่เป็นปัญหาในการให้บริการมากที่สุดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรณีเกิดเหตุการณ์พนักงานหยุดงานประท้วง คือ พนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุก หรือรถเทียบไฮท์โหลดเดอร์ ซึ่งเป็นรถที่วิ่งในท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการขนส่งสัมภาระของผู้โดยสารขึ้นและลงเครื่องบิน เพราะผู้ที่จะขับรถดังกล่าวได้
ต้องผ่านการอบรมเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน จึงจะได้รับใบอนุญาต หลังจากนั้นก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในท่าอากาศยานได้

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา คือ พนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุกของการบินไทยที่มีอยู่ประมาณ 100 คน ทำงานไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่มีอยู่จึงส่งผลให้การขนถ่ายกระเป๋าของผู้โดยสารขึ้นและลงจากเครื่องบินเกิดความล่าช้า ส่วนพนักงานในส่วนอื่นๆยังปฏิบัติหน้าที่กันตามปกติ
หากไม่ทำงานทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็สามารถนำบุคคลากรที่มีอยู่ไปช่วยอำนวยความสะดวกได้ แต่ในส่วนของพนักงานควบคุมอุปกรณ์ระวางบรรทุก ไม่มีใครสามารถจัดหาเพื่อเข้าไปดำเนินการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ทัน

แหล่งข่าว กล่าวว่า หากต้องการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง จะต้องมีการกำหนดนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ทาง ทอท.ฝึกบุคคลากรของตัวเอง เพื่อเตรียมไว้ให้พร้อมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการฝึกอบรมจะต้องใช้ระยะเวลานาน ต้องมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่สามารถฝึกแล้วให้ทำหน้าที่ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
โดยยอมรับว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนในวันที่ 19 มกราคมนี้อีก แต่จะพยายามช่วยอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารให้น้อยที่สุด

***สหภาพฯ บัวหลวงม็อบหน้าแบงก์

หลังจากไม่มีความคืบหน้ากรณีเรียกร้องเงินเดือนและสวัสดิการเพิ่ม มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) เวลาประมาณ 12.00 น. สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ได้นัดชุมนุมกันที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม โดยมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหาร "3 ค. 1 ก." คือ ขอคืนโบนัสที่อัตรา 4 เดือนเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันธนาคารจ่าย 2 เดือน , ขอคืนเงินประทังชีวิตหลังเกษียณจากอัตราปัจจุบัน 3 แสนบาทต่อราย เป็น 4.5 แสนบาทต่อราย , ขอคืนอัตราขึ้นเงินเดือนที่ 6% เท่ากันทั้งธนาคาร หลังจากที่ปรับให้พนักงานประจำ 3% การตลาดฝ่ายขาย 6% , และ 1 ก. คือ แก้ไขการจ่ายคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากปัจจุบันคิดเป็นอันดับขั้น ให้คิดเป็น 7% เท่ากันทั้งธนาคาร

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ม.ค. นี้ กลุ่มสหภาพฯ จะเดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อไกล่เกลี่ยกับผู้บริหาร ซึ่งหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะยกระดับความรุนแรงในการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น โดยจะดึงกลุ่มสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมสหภาพแรงงานของธนาคารอื่นๆ เข้ามาร่วมชุมนุม แต่ถ้ายังไม่มีการตอบรับจากฝ่ายบริหาร พนักงานก็จะยกระดับยื่นเรื่องขอหยุดงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น