นี่เป็นเดือนของการประท้วงหรืออย่างไร หลังจากกรณีของพนักงานการบินไทย ชุมนุมเรียกร้องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขอให้ปรับขึ้นเงินเดือนเป็นร้อยละ 7.5 และโบนัส 2 เดือน เนื่องจากไม่พอใจที่บอร์ดประกาศผลการจ่ายโบนัส และเงินเดือนไม่สอดคล้องกับกำไรที่สูงถึง 7 พันล้าน จนกระทั่งผู้บริหารยอมปรับเป็นที่น่าพอใจ
ล่าสุดยังไม่ทันข้ามอาทิตย์ พนักงานธนาคารกรุงเทพฯ นำโดยสหภาพแรงงานได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม ประท้วงยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มโบนัสจาก 3 เดือนเป็น 4 เดือน รวมทั้งเงินเดือน สวัสดิการผลประโยชน์ต่างๆ ต่อผู้บริหารด้วยเช่นกัน และจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับฝ่ายนายจ้างอีกครั้งภายในอาทิตย์นี้
การใช้กฎหมู่บังคับเพื่อขอปรับขึ้นเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พนักงานคิดว่าควรจะได้รับ จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ ทำให้เกิดเป็นกระแสการประท้วงของทั้งสององค์กร ซึ่งดูเหมือนเป็นเทรนด์แฟชั่นช่วงต้นปีไปแล้ว และไม่แน่ใจว่าวิธีการเรียกร้องเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่นอีกในสังคมไทย
“การบินไทย โมเดล” ต้นแบบปลุกกระแสประท้วง!
“ธนาคารกรุงเทพยอมรับว่าออกมา เพราะการบินไทย และแน่นอนตอนนี้พนักงานบริษัทอื่นก็กำลังซุ่มดูอยู่”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของการประท้วงเรียกร้องการเพิ่มเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการครั้งนี้ของพนักงานธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีที่มาตามแบบฉบับเดียวกับการบินไทย ประกอบกับอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดี หลังทราบผลประกอบการของบริษัทที่จะประกาศให้พนักงานทราบในช่วงต้นปี ซึ่งกำไรเป็นตัวชี้วัดว่าพวกเขาควรจะได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน
หากมองในมุมกว้างจะเห็นถึงวิกฤตการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ฉะนั้น กลุ่มใหญ่ที่มีผลกระทบคือพนักงานกินเงินเดือน และกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รายได้ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัจจัยแวดล้อมจึงส่งผลให้เกิดแรงบีบคั้นต้องการเรียกร้องค่าตอบแทนที่พวกเขาคิดว่าควรจะได้รับจากผู้ประกอบการ
เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา เริ่มจากเรื่องค่าแรง 300 บาท วุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท และการให้ข้อมูลของสหภาพฯ ก็ค่อนข้างชัดเจนเป็นระบบ จึงทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายลูกจ้างดีขึ้นมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่เมื่อเกิดการเรียกร้องประท้วงแบบนี้ต้องมีการเจรจา แต่เดาไม่ได้ว่าสุดท้ายข้อสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งการบินไทยเอง ที่ทั้งสองเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องมีการนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาในวันที่ 8 ก.พ. 56 ส่วนธนาคารกรุงเทพ หากการเจรจายังไม่ลงตัว จะมีการนัดรวมตัวชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 25 ม.ค. 56
ด้านสมศักดิ์ นัคลาจารย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติมองบทสรุปของการประท้วงทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ โดยให้เหตุผลที่ว่า “การประท้วงทุกอย่างเริ่มจากจุดเล็ก แต่ไม่มีการพูดคุยกัน จึงต้องเกิดการประท้วงโดยการสร้างความรุนแรงต่อสังคม อย่างกรณีการบินไทย ที่ทำให้เครื่องบินออกเดินทางล่าช้ากว่า 30 เที่ยวบิน และเกิดความปั่นป่วนในการนำส่งกระเป๋าผู้โดยสารเข้าสู่สายพานลำเลียง ทำให้ผู้โดยสารทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเดือดร้อน”
“การประท้วงในประเทศไทยเหมือนเป็นการจี้ตัวประกัน เอาบุคคลอื่นที่เดือดร้อนเป็นตัวประกัน กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมการจี้ตัวประกัน ว่าเมื่อไหร่เราอยากได้ผลประโยชน์ต้องชุมนุมประท้วงแบบนี้เพื่อให้บุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นคนหมู่มากที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อน และทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง (ผู้บริหาร) จะเข้ามาแก้ปัญหารวดเร็ว ทำแล้วประสบความสำเร็จ อย่างที่การบินไทยได้ ธนาคารกรุงเทพก็น่าจะตกลงได้เหมือนกัน ขณะเดียวกันในทางกฎหมาย ถ้าประท้วงโดยคนหมู่มาก กฎหมายละเว้นความผิด”
การออกมาประท้วงของพนักงานทั้งสองบริษัท จึงเป็นไปตามทฤษฎีการเลียนแบบแบบมีประสบการณ์ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งได้ คนอื่นๆ ที่คิดว่าเขาก็ควรจะได้ จึงมีการออกมาเรียกร้องเช่นเดียวกัน เหมือนเป็นเงาสะท้อนตามกัน และต่อไปอาจทำให้พนักงานหลายบริษัทที่กำลังจับตามองอยู่ หาจังหวะดีๆ ใช้สิทธิ์นี้ประท้วงเรียกร้องผลตอบแทนบ้าง
กำไรของท่าน คือสิทธิของเรา!?
เมื่อการประกาศผลปรับขึ้นเงินเดือน หรือโบนัสของพนักงาน ไม่สอดคล้องกับผลกำไรของบริษัท หรือน้อยกว่าที่ควรจะได้ จึงนำไปสู่การประท้วง ตามความคิดของพนักงานที่มองว่าควรมีการปรับขึ้นทุกปี แต่หากมองในมุมผู้บริหาร การเพิ่มผลตอบแทน หรือสวัสดิการให้พนักงานในแต่ละปีนั้น ไม่ได้มีแค่เหตุปัจจัยกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น
เดชรัตน์ สุขกำเนิด ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การปรับเงินเดือนขององค์การต่างๆ ดูจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ปัจจัยแรก คือเรื่องผลประกอบการของบริษัทว่าในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยทั่วไปถ้าผลประกอบการดีขึ้น ก็อาจจะมีการตอบแทนให้แก่พนักงาน เช่น การขึ้นเงินเดือน หรือการให้โบนัส แต่ว่าต้องดูปัจจัยที่ 2 ด้วย ก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายของพนักงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับเรื่องของเศรษฐกิจว่าตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และปัจจัยที่ 3 คือ สภาพของการแข่งขันในธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างไร มีการแข่งขันที่รุนแรงหรือไม่ ซึ่งต้องดูทั้ง 3 ปัจจัยนี้ประกอบกัน
“แม้ว่าผลประกอบการจะดี แต่ว่าการแข่งขันมีแนวโน้มที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นอาจจำเป็นต้องขึ้นเงินเดือนในอัตราที่น้อยกว่าที่คิดไว้ แต่ถึงอย่างไรการปรับเงินเดือนขึ้นทุกปีของพนักงานนั้น เป็นไปตามปัจจัยข้อที่ 2 การเกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละปีมันก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มเงินให้พนักงาน ถ้าไม่อย่างนั้นพนักงานก็เหมือนจะมีรายได้ลดลง แต่ถ้าเพิ่มขึ้นกว่าเงินเฟ้อแล้ว ก็ต้องดูปัจจัยข้อ 1 และ 3 ประกอบกัน”
เท่าที่ได้ฟังข้อมูลจากฝ่ายพนักงานของธนาคารกรุงเทพ บอกว่าปีนี้ผลประกอบการธนาคารกรุงเทพดีมาก มีกำไรสุทธิกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท จึงอยากให้เพิ่มเงินเดือน และโบนัสเหมือนในสมัยที่เคยรุ่งเรือง ก่อนเกิดวิกฤตปี 40 ที่ผ่านมา
“กรณีธนาคารกรุงเทพการปรับเงินเดือนให้พนักงานบางส่วนแค่ 3% จึงเหมือนแทบจะไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับ 3% อยู่แล้ว และการขอขึ้นเงินโบนัสจาก 2 เดือนเป็น 4 เดือน ถ้ามองให้ดี ควรมองถึงปัจจัยที่ 3 ด้วยว่าผู้บริหารบริษัทมองสถานการณ์การแข่งขันไว้อย่างไร โบนัสแต่ละปีเป็นเหมือนบรรทัดฐาน หรือความคาดหวังว่าปีหน้าควรเป็น 4 เดือนด้วย แต่ถ้าสถานการณ์การแข่งขันมันไม่ดีก็ไม่สามารถขึ้นได้ แม้ว่าผลประกอบการปีนี้ดีก็ตาม ทำให้ตอนนี้สหภาพฯ ทางธนาคารกรุงเทพ พยายามที่จะคุยกับสหภาพฯ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ให้มันเป็นเหตุผลในปัจจัยที่ 3 ที่กล่าวไว้” อาจารย์เดชรัตน์ กล่าว
“ใจเขา ใจเรา” สร้างความเข้าใจ ก่อนปัญหาจะบานปลาย
ขณะที่ผู้บริหารให้เงินเดือนและโบนัสตามกำลังสูงสุดที่จะจ่ายได้ แต่ขณะเดียวกันพนักงานมองว่าค่าตอบแทนเหล่านั้นควรปรับขึ้นตามผลกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่เมื่อการปรับเพิ่มเงินไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยไม่มีการพูดคุยกัน หรือวางแผนงานล่วงหน้าร่วมกันมาก่อน ผู้ประกอบการอาจจะคาดคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมา
เดชรัตน์ สุขกำเนิด ให้ความคิดเห็นถึงแนวทางแก้ไขการเรียกร้องค่าตอบแทนของพนักงานในบริษัทว่า หลายบริษัทเขามีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า ปีหน้าเขาจะขึ้นเงินเดือนเท่านี้ แล้วก็ช่วยกันทำให้ได้ Productivity เท่านี้เปอร์เซ็นต์ ผมว่าทุกอย่างก็จะชัดเจนมากขึ้น ปัญหาการเรียกร้องขอขึ้นโบนัสเงินเดือนก็จะลดลง ฉะนั้นผู้บริหารต้องมองไปข้างหน้า เสนอไกลไปกว่าที่พนักงานจะเรียกร้องเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการเสนอที่ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน เมื่อได้ผลผลิตที่มากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น จึงเป็นการวินวินทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าผู้ประกอบการได้ทบทวนพิจารณาการให้โบนัส ซึ่งบางบริษัทเป็นช่วงตรุษจีน เขาต้องเอาประเด็นนี้ไปพิจารณา ถ้าเขาสามารถคิดได้ทัน ไม่อยากจะให้มีการต่อรอง ถ้าอยากได้ใจพนักงาน จริงๆ ทุกบริษัทอยากจะให้มากกว่าที่พนักงานคาดหวัง เพียงแต่ต้องดูว่าสถานการณ์มันเอื้ออำนวยไหม
ถ้าสังเกตจะเห็นว่า หลังจากมีนโยบาย 300 บาท มีผู้ประกอบการบางรายให้ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศด้วยซ้ำ เพื่อทำให้พนักงานเห็นว่าเขาพร้อมที่จะจ่าย ทั้งๆ ที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายให้จ่ายอยู่แล้ว เพื่อให้ลูกจ้างที่มีฝีมืออยู่กับธุรกิจได้นานขึ้น เพื่อสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในอนาคต จึงเป็นการดีถ้ามีการปรับได้ทันเวลา”
การหันมากำหนดเป้าหมายร่วมกันในองค์กร จึงเป็นทางออกที่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ที่ต้นเหตุ ขณะที่บางหน่วยงานรัฐกำลังเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการประชาชน ไปทำแผนรองรับฉุกเฉิน หากเกิดกรณีเดียวกับพนักงานของการบินไทยที่รวมตัวประท้วง เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดกับการให้บริการผู้โดยสาร แต่ก็เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุเท่านั้น
ต้องยอมรับและเข้าใจความจริงว่าสถานการณ์ปัจจุบัน เรามาถึงจุดที่ทุกคนเดินไปสู่ยุคที่เศรษฐกิจไทยมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และอนาคตไม่สามารถลงมาถูกกว่านี้ได้อีกแล้ว หากนายจ้างและลูกจ้างหาทางออกร่วมกันโดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เชื่อได้เลยว่าการออกมาประท้วงแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น
ส่วนผู้บริหารที่วันๆ ได้แต่นั่งเก้าอี้สั่ง ไม่ยอมลุกไปไหน เตรียมใจได้เลยว่าพนักงานของตัวเองอาจกำลังคิดจะยึด “การบินไทย โมเดล” เป็นต้นแบบในประท้วง เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันพาไป
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live