xs
xsm
sm
md
lg

เดินรถสีม่วงติดหล่ม “โต้ง” เปิดห้องกล่อมเอกชนไม่สำเร็จ วัดใจ “ชัชชาติ” ส่งคืน กก.มาตรา 13 ต่อรองเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ-กิตติรัตน์” หารือนอกรอบหาทางออกปัญหาราคาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเกินกรอบ หลัง BMCL ยอมลดค่าตัวรถลงแค่ 220 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ยและภาษี) ยังขาดอีก 234 ล้านบาท วงในเผย “บิ๊กโต้ง” เปิดห้องหวังกล่อมเอกชนแต่ไม่สำเร็จ คาดสุดท้าย “คมนาคม” ส่งคืน กก.มาตรา 13 ต่อรองใหม่ ส่วนสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) รอบอร์ด สศช.เห็นชอบก่อนเสนอ ครม. คาดเปิดประมูลปลายปี 56

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้หารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงความคืบหน้าผลการเจรจาต่อรองกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ในงานสัญญาที่ 4 ในรูปแบบ PPP-Gross Cost (สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ได้เสนอผลการเจรจากับ BMCL ที่ปรับลดวงเงินลงประมาณ 300 ล้านบาทจาก โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีนายกิตติรัตน์เป็นประธานพิจารณาว่าจะยอมรับหรือให้ต่อรองเพิ่ม เนื่องจากยังลดราคาต่ำกว่ากรอบที่ต้องการ

“ต้องดูเหตุผลก่อนเพราะอยากให้ประมาณ 500 ล้านบาทแต่ลดมาแค่ 200 กว่าล้านเพราะอะไร นี่คือความยุ่งยากหนึ่งของระบบ PPP ที่การพิจารณาต่อรองเป็นอำนาจของ กก.มาตรา13 ถามว่ายกเลิกได้ไหมเพราะไม่ได้ราคาอย่างที่รัฐต้องการแล้วเปิดประมูลใหม่ก็อาจจะเสี่ยงมากกว่า และในประเทศตอนนี้มีผู้ประกอบการ 2 ราย คือ BMCL กับ BTS ซึ่งตอนประมูล BTS เสนอราคากว่าแสนล้าน สูงกว่าที่ BMCL เสนอ” นายชัชชาติกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาสัญญาเดินรถสีม่วงที่กระทรวงการคลัง โดยมีนายกิตติรัตน์ นายชัชชาติ ผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหารระดับสูง บมจ.ช.การช่าง บริษัทแม่ของ BMCL ร่วมด้วย โดยผู้รับเหมายืนยันราคาที่ปรับลดล่าสุดในส่วนของการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 21 ขบวนหรือ 63 ตู้ ลง 220 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีและดอกเบี้ย) จากกรอบที่ต้องการให้ลด 454 ล้านบาท ยังเหลือส่วนต่างอีก 234 ล้านบาท โดยราคาขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ 5,075 ล้านบาทจาก 5,296 ล้านบาท ทำให้วงเงินรวมปรับลดเหลือ 82,989 ล้านบาท จาก 83,310 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคารถไฟฟ้าในตลาดอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 60-62 ล้านบาทต่อตู้ ขณะที่เอกชนเสนอราคา 2.7 ล้านเหรียญต่อตู้ ถือว่าได้กำไรจากตัวรถค่อนข้างมาก การที่เอกชนลดราคาให้เพียง 220 ล้านบาทถือว่าน้อยมากและยังไม่ถึงเป้าหมายที่ กก.กลั่นกรองต้องการ ดังนั้นเป็นไปได้สูงที่ รมว.คมนาคมอาจตัดสินใจส่งเรื่องให้ กก.มาตรา 13 ต่อรองกับเอกชนอีกรอบ เพราะหากเสนอผลให้ กก.กลั่นกรองฯ แล้วมีมติรับราคาจะถูกครหาแน่นอน ซึ่งวงในทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทราบกันดีว่าสัญญานี้เอกชนได้กำไรจากตัวรถไฟฟ้าและค่าระบบหลายพันล้านบาท การเจรจาเป็นการลดในส่วนกำไรลงเท่านั้น

นายชัชชาติกล่าวถึงความคืบหน้าเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตรนั้น ว่า ได้ให้ รฟม.กลับไปทำรายละเอียดและเหตุผลใหม่ให้ชัดเจน เนื่องจากที่เสนอมาว่าจะให้ BMCL เดินรถส่วนนี้ในรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนสัมปทานสายสีน้ำเงิน (เฉลิมมหานคร) คือรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนรับสัมปทานเก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จให้ใช้รูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนสายสีม่วง คือรัฐลงทุนโครงสร้าง เอกชนจัดหาระบบและรถไฟฟ้ามารับจ้างวิ่งแทนนั้นไม่น่าจะเหมาะสม โดยเห็นว่า รฟม.ควรเสนอทางเลือกการเดินรถที่ดีที่สุดไม่ใช่เสนอแบบได้ทั้งสองอย่าง โดยการเดินรถ 1 สถานีนี้ยังมีเวลาที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ต้องเร่งมาก

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 58,000 ล้านบาทนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเสนอที่ประชุม ครม. คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557 ส่วนสายสีชมพูช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี วงเงิน 58,642 ล้านบาทนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังตรวจสอบรายละเอียดแบบการก่อสร้างที่ใช้ Design & built เพื่อความรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น