ทอท.ตั้งเป้าผู้โดยสารปี 56 ทั้ง 6 สนามบินอยู่ที่ 85 ล้านคนเพิ่มจากปีก่อน 19% “ศิธา”รับสนามบินแออัดขยายไม่ทันกับการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก สั่งเร่งขยายภูเก็ตพร้อมอนุมัติ 3 พันลบ.ปรับปรุบงดอนเมืองเฟสแรก ทุ่มหมื่นล.ผุดรันเวย์สำรองที่สุวรรณภูมิ คาดผลประกอบการปี 56 ดี หลังผล 6 เดือนฟันกำไรสุทธิ 7 พันล.สูงกว่าปี 55 ทั้งปี
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เปิดเผยว่า สถิติจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ / ท่าอากาศยานดอนเมือง/ ท่าอากาศยานภูเก็ต / ท่าอากศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ในรอบ 8 เดือนปี 2556 (ต.ค.55-พ.ค. 56) รวม 57.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.4% มีปริมาณเที่ยวบิน 370,520 เที่ยวบินเพิ่มขึ้น 15.9%โดยคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 56 (ก.ย. 56 ) จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 85 ล้านคน เพิ่มจากปี 55 ประมาณ 13.5 ล้านคนหรือ 19% ส่วนเที่ยวบินจะมีกว่า 550,000 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี 55 ประมาณ 70,00 เที่ยวบินหรือ 14.55 คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการปี 56 ดีกว่าปีก่อน โดยในช่วง 6 เดือน(ต.ค.55-มี.ค. 56 ) มีรายได้ 18,406.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนแรกปี 55 ประมาณ 22.94% มีกำไรสุทธิ 7,941.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.69%
ทั้งนี้ทอท.มีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ,ดอนเมือง,ภูเก็ต เพื่อรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้องปฏิเสธเที่ยวบินที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยเพราะสนามบินรับไม่ไหว เช่น ภูเก็ตมีเที่ยวบินอีก 30 % ที่เข้ามาไม่ได้ คิดเป็นผู้โดยสารประมาณ 3 ล้านคนต่อปี เป็นการสูญเสียโอกาส ซึ่งผนขยายท่าอากาศยานภูเก็ต มูลค่า 5,146 ล้านบาท จะเพิ่มขีดการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนต่อปีเป็น 12.5 ล้านคนต่อปีแต่ขณะนี้งานล่าช้ากว่าแผน 100 วัน ดังนั้นจะเร่งรัดผู้รับเหมาคือบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ปรับแผนก่อสร้าง และให้สลับเนื้องานเร่งก่อสร้าง 5 หลุมจอดให้เสร็จใช้งานได้ก่อนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกันนี้ทอท.จะลงทุนอีก 100 ล้านบาท ก่อสร้างเทอร์มินอลชั่วคราวให้เสร็จในสิ้นปีเช่นกัน ซึ่งจะทำให้การรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 3 ล้านคนต่อปีซึ่งเป็นลงทุนที่คุ้มค่า เพราะคาดว่าจะทำให้มีกำไรเพิ่มอีก 30 จาก% ปัจจุบันมีกำไร 1,800 ล้านบาท โดยไม่ต้องรอขยายภูเก็ตเสร็จทั้งโครงการ
นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนยังได้อนุมัติวงเงินลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเต็มรูปแบบ ( Full Service) ระยะแรก 3,000 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร2, งานซ่อมแซมอาคาร South Corridor, งานซ่อมแซมอาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 5, งานซ่อมแซมอาคารจอดรถ 7 ชั้น กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารอีก 11.5 ล้านคนต่อปี ส่วนอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ที่เปิดใช้งานอยู่รับได้ 18.5 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 30 ล้านคนต่อปี พร้อมกันนี้ได้ให้ทำแผนรายละเอียดการพัฒนาระยะ 2 วงเงินลงทุนประมาณ7,000 ล้านบาท เสนอที่ประชุมบอร์ดเดือนกรกฎาคม โดยจะมีการปรับปรุงทางวิ่ง ขยายไหล่ทางให้รองรับเครื่องบินแอร์บัส A 380 , ขยายหลุมจอด A 380 เพิ่มอีก 3 หลุมจอดรวมของเดิม 2 หลุมจอดเป็น 5 หลุมจอด และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 9 ล้านคนต่อปี
นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานแผนงานและทอท.กล่าวว่า กำไรสุทธิ 6เดือนแรกปี 2556 ที่ 7,941.15 ล้านบาท มากกว่ากำไรสุทธิของทั้งปี 2555 ที่มีประมาณ 6,500 ล้านบาท และแนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ยังมั่นใจว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน แม้ว่าจะเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) เนื่องจากที่ผ่านมาจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีหลังแต่ปีนี้ได้ดำเนินการแปลงสกุลหนี้เงินกู้ (สว็อป) จากเยนเป็นบาท จำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่สุด สามารถลดภาระหนี้ลงได้ 2,900 ล้านบาท โดยเหลือหนี้ประมาณ 7,100 ล้านบาท เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่น่ากังวล
ส่วนเงินลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถนั้น บอร์ดให้พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ใน 3 แนวทาง คือ กู้เงิน, ออกพันธบัตร,ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์) โดยทอท.มีความจำเป็นต้องลงทุนขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ประมาณ 62,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีเงินสดอยู่ในมือ 38,000ล้านบาทประมาณการณ์รายได้ของปีนี้และปีหน้า คาดว่าจะเริ่มเงินและขาดเงินในมือในปี 2559-2560 ประมาณ 17,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีเวลาอีก1 ปี ในการประเมินภาวะตลาดก่อนตัดสินใจ นอกจากนี้คาดว่าปลายปีนี้ ทอท.จะสามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศจาก 700 บาทเป็น 800 บาทต่อคน ทำให้มีกำไรเพิ่มอีก 1,800 ล้านบาท
ส่วนการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) สำรองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินประมาณ10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินก่อนการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้การกู้เงินมาดำเนินการ