“คมนาคม” ยันกู้ลงทุน 2 ล้านล้านยกระดับขนส่งไทยเป็นฮับ AEC ด้าน ทอท.เร่งสุวรรณภูมิเฟส 2 เสร็จปลายปี 59 พร้อมศึกษาเฟส 3-4 แบบคู่ขนาน ขณะเดียวกันเร่งฟื้นฟูดอนเมืองรับเที่ยวบินไม่จำกัด “พงศ์ศักติฐ์” เผยเตรียมให้บริการรถไฟขบวนพิเศษเชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ หวั่นเปิด AEC กระทบคนทำงาน เหตุปรับแนวคิดและวิธีทำงานไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ด้านผู้ประกอบการลอจิสติกส์แนะตั้งศูนย์พักรถ-รวม และกระจายสินค้าทุก 400 กม.
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “Logistics and Transportation in time of Expansion” การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย...เพื่อการขยายตัวด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ ภายใต้โครงการ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” ครั้งที่ 8 ซึ่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิชาการกิจการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันจัดเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการขนส่งสำหรับนำไปเป็นแนวทางในการเตรียมพร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
โดย พล.ต.อ.วิเชียรเปิดเผยว่า แม้ที่ตั้งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยมีงบลงทุนต่ำกว่า 25% ต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้ว ทำให้ไทยมีต้นทุนการขนส่งสูง เสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า ดังนั้นจึงมีการทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และรองรับการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 โดยมีโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุน แบ่งเป็นการลงทุนทางราง 82.92% ทางถนน 14.47% ทางน้ำ 0.61% และด่านชายแดน 0.61% เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร โครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โครงการขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์ การพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งภูมิภาคเอเชียต่อไป
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า การเปิด AEC จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สิ่งที่กังวลคือคนทำงานในทุกภาคส่วนมีการปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงาน ในส่วนของ ทอท.นั้น ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 62,503 ล้านบาท โดยว่าจ้างบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ใช้เวลาออกแบบ 10 เดือน หาผู้รับเหมาอีก 5 เดือน คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายปี 2559 และจะเริ่มทำแผนศึกษาการพัฒนาสุวรรณภูมิในเฟส 3, 4 และรันเวย์ 3 และ 4 คู่ขนานไปพร้อมกันเพื่อเร่งขยายขีดความสามารถให้ทันการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสาร
ในขณะเดียวกันจะเร่งปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมืองให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) ซึ่งจะเสนอแผนให้บอร์ด ทอท.พิจารณาในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคม โดยจะทยอยปรับปรุงเริ่มจากเทอร์มินัล 2 วงเงินประมาณ 2-3 พันล้านบาทก่อน ในขณะเดียวกันจะต้องประสานกับสายการบินต่างๆ ที่จะมาใช้บริการ ทั้งนี้ ในส่วนของการให้บริการปัจจุบัน จะมีการปรับปรุงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่าง 2 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ)เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น เพิ่มรถให้บริการภายใน 1-2 เดือน และจัดรถไฟขบวนพิเศษให้บริการจากสถานีดอนเมือง-มักกะสัน-ทับช้าง และต่อรถยนต์เข้าสุวรรณภูมิ ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้ว
“การลงทุน 2 ล้านล้านเน้นระบบรางเป็นหลัก แต่ก็ถือเป็นระบบที่จะสนับสนุนกับทางอากาศไม่ได้แข่งขันกัน ในส่วนของ ทอท.ต้องมีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านขนส่งทางอากาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ซึ่งต้องมีการลงทุนจำนวนมาก โดยอยู่ระหว่างหาโมเดลเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ มาใช้ในการระดมเงินทั้งจากตลาดทุนและตลาดเงินรวมถึงหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน เช่น ร่วมกับการบินไทยในการบริหารท่าอากาศยาน หรือร่วมกับพันธมิตรในอาเซียนบริหารท่าอากาศยานในอาเซียน เพื่อเพิ่มรายได้จาก Non Aero ให้เพิ่มมากกว่ารายได้จากเที่ยวบินและผู้โดยสาร” นายพงศ์ศักติฐ์กล่าว
ด้านนายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์ลอจิสติกส์ไทย กล่าวว่า การลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านจะประสบความสำเร็จจะต้องมีการจัดตั้งจุดพักรถบรรทุก ไอซีดี ศูนย์รวมและกระจายสินค้า รวมอยู่ในที่เดียวกันทุกๆ 400 กม.หรือกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งอยู่ตามแนวอาเซียนไฮเวย์ที่จะมีรถขนส่งจากประเทศอาเซียนผ่านเข้ามา ทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการด้านสินค้าอย่างเป็นระบบ เพิ่มมาตรฐานด้านความปลอดภัย และยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาและแปรรูปสินค้าทางการเกษตรในแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี