บขส.ยกระดับบริการ ติดตั้งจอทีวีส่วนตัวบนรถปรับอากาศวีไอพี 24 ที่นั่ง และ 32 ที่นั่ง “ประเสริฐ” ชี้บริการเสริมไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม หวังจูงใจผู้ใช้บริการเพิ่มอีก 10% จากปัจจุบันที่มี 40 ล้านคนต่อปี ด้าน บขส.มีรายได้เพิ่มจากสัญญา 10 ปี เอกชนจ่ายเดือนละเกือบ 4 แสนบาท เล็งเสนอย้ายรถสายยาวออกนอกเมือง ส่วนสายสั้นขออยู่ที่เดิม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “การให้บริการความบันเทิงบนรถ บขส.” โครงการติดตั้งจอทีวีส่วนตัวระบบ Video on Demand (VOD) บนรถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่งทุกที่นั่ง (ทีวีบนรถ) วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่า เป็นมิติในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น โดยผู้โดยสารจะมีจอทีวีส่วนตัวทุกที่นั่ง โดยจะเริ่มโครงการในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ และจะมีบริการในรถ บขส.ทุกคันภายในวันที่ 1 มกราคม 2557 โดยไม่คิดค่าบริการ หรือค่าโดยสารเพิ่มแต่อย่างใด ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีนโยบายในการปรับขึ้นค่าโดยสาร โดยค่าโดยสารจะพิจารณาผันแปรตามราคาน้ำมันเป็นหลัก
“ตั้งเป้าหมายว่าบริการเสริมนี้จะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถ บขส.เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10% จากปัจจุบันใช้บริการประมาณ 40 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะช่วงระหว่างรอโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะนอกจากค่าโดยสารรถ บขส.จะไม่แพงแล้ว สามารถเข้าไปถึงอำเภอได้ทุกพื้นที่แล้ว ยังมีการปรับปรุงบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น” นายประเสริฐกล่าว
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า บริษัท โซ พลัส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งจอทีวีส่วนตัวบนรถโดยสารของ บขส.จำนวน 854 คัน สัญญา 10 ปี โดยจะเป็นรถปรับอากาศชั้นหนึ่งจำนวน 165 คัน ซึ่งจะลงทุนปรับปรุงประมาณ 500,000 บาทต่อคัน ซึ่งนอกจากบริการที่ดีขึ้นแล้ว บขส.ยังมีรายได้จากผลตอบแทนที่เอกชนเสนอให้ในส่วนรถปรับอากาศ 1,500 บาทต่อคันต่อเดือน รถร้อน 200 บาทต่อคันต่อเดือน คิดเป็นรายได้เกือบ 400,000 บาทต่อเดือน และในอนาคตจอทีวีทุกที่นั่งจะสามารถชำระบิลค่าบริการต่างๆ รวมถึงจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้อีกด้วย
ส่วนการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตนั้น นายวุฒิชาติกล่าวว่า จะเสนอแนวคิดต่อที่ประชุมซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นตัวกลาง ว่า รถโดยสารสายสั้นระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรควรให้บริการที่สถานีหมอชิตเดิม เนื่องจากการเดินทางมีความถี่และต้องการความรวดเร็วในการเชื่อมต่อระบบขนส่งเข้าสู่เมือง ส่วนรถโดยสารระยะทางไกลควรจะย้ายออกไปอยู่ด้านนอก กทม. ซึ่งเบื้องต้นมี 3 พื้นที่ที่เหมาะสม คือ รังสิต เมืองทองธานี และดอนเมือง พื้นที่ประมาณ 150 ไร่ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนข.ที่จะดูภาพรวมของระบบขนส่งทั้งหมดในพื้นที่ย่านพหลโยธิน