xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ทบทวนแผนแม่บทพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธิน หวังเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
“ชัชชาติ” สั่ง ร.ฟ.ท.ทบทวนแผนแม่บทพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธิน เล็งพัฒนา กม.11 และศูนย์ฝึกรถไฟพื้นที่ 258 ไร่ก่อน ตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มจากปัจจุบันปีละแค่ 700 ลบ. เหตุย่อยสัญญาเช่ามากไป พร้อมมอบ สนข., บขส. และ ขสมก.เร่งหาข้อสรุปย้ายสถานีหมอชิตหรือไม่ใน 2 สัปดาห์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมพิจารณาการใช้พื้นที่บริเวณย่านพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 2,325 ไร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนว่า ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ไปทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าเพิ่มได้ก่อนเนื่องจากไม่มีสัญญาเช่าใดๆ คือบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟ กม.11 เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ และสำนักงานฝึกอบรมและพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 58 ไร่ เพื่อนำรายได้เชิงพาณิชย์ส่วนหนึ่งมาดูแลพนักงาน โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีรายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วประเทศประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นรายได้จากที่ดินพหลโยธินประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกันนี้ จะต้องเร่งหาข้อสรุปในส่วนของสถานีขนส่งหมอชิตและอู่รถเมล์ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปหารือร่วมกัน โดยพิจารณาการใช้สถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบรางให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในหลักการ ขสมก.ควรจะต้องอยู่ร่วมกับสถานีกลางบางซื่อเพื่อเป็นฟีดเดอร์การเดินทางให้มีความเชื่อมโยงกัน ส่วนสถานีขนส่งหมอชิต บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะต้องพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมหากจะย้ายออกจากพื้นที่เดิม โดยให้หาข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์

นายชัชชาติกล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการจัดระบบทางเข้าออกและการเชื่อมโยงระบบขนส่งต่างๆ กับสถานีกลางบางซื่อเพื่อไม่ให้มีปัญหาซ้ำรอยสถานีมักกะสันของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ โดยจะต้องจัดทำแผนกำหนดจุดจอดรถสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถแท็กซี่ และรถส่วนบุคคลให้มีความสะดวกมากที่สุด ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธินจะนำแบบมานำเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า

“การพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธินของ ร.ฟ.ท.มีปัญหาเพราะมีการแบ่งพื้นที่ทำสัญญาเช่าแบบย่อยๆ และที่ดินหลายแปลงที่เพิ่งมีการต่อสัญญาหมดอายุปี 2586 ซึ่งสัญญาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคและทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาเพราะรวมพื้นที่เป็นแปลงใหญ่ไม่ได้ ขณะที่สัญญาที่แบ่งย่อยพื้นที่มีรายได้เป็นเบี้ยหัวแตก ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงต้องไปทบทวนใหม่ ถ้าวางแผนแม่บทนิ่งจะเห็นทิศทางการพัฒนาที่ได้ประโยชน์คุ้มค่า นอกจากนี้ ยืนยันว่าการพัฒนาจะมีพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะแน่นอน รวมถึงที่ดินย่านมักกะสันที่มีข้อเสนอให้ทำเป็นสวนสาธารณะนั้นคงจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ซึ่ง ร.ฟ.ท.มีความจำเป็นต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์เพราะมีภาระหนี้เกือบแสนล้านบาท และอาจจะไม่ยุติธรรมกับคนทั้งประเทศ เพราะต้องนำภาษีมาให้ ร.ฟ.ท.” นายชัชชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น