บอร์ด ร.ฟ.ท.ชี้ไม่มีอำนาจยุบบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. โยนคมนาคมและ ครม.ตัดสินใจ “สร้อยทิพย์” ยันการเงินแอร์พอร์ตลิงก์ไม่มีปัญหาอยู่ในขั้นตอนอนุมัติ พร้อมจ่ายทันที ปราม “CEO ป้ายแดง” แนะประสาน ร.ฟ.ท.ใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหา วงในแฉแหลกปมแอร์พอร์ตลิงก์ป่วน เหตุมีกลุ่มอำนาจกินรวบผลประโยชน์ พนักงาน ปูดระดับบิ๊กเอี่ยวผลประโยชน์ดึงคนใกล้ชิดฮุบสัมปทานรถตู้ ขายตั๋ว
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับทราบข้อเสนอของนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กรณียุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของ ร.ฟ.ท. แต่ยังสามารถให้ความเห็นชอบใดๆ ได้เนื่องจากเป็นเรื่องของนโยบายที่จะตัดสินใจ แล้วยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ร.ฟ.ท.กรณีที่ให้ตั้งหน่วยธุรกิจ 3 หน่วยหากต้องมีเพิ่มอีก 1 หน่วยจะต้องนำเสนอ ครม.พิจารณา ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.นั้น ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้มีคำสั่งผ่านกระทรวงคมนาคมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ให้ทำโมเดลการบริหารและแผนธุรกิจเสนอภายใน 6 เดือน ดังนั้นจึงให้แอร์พอร์ตลิงก์เร่งสรุปโมเดลการบริหารเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป
ทั้งนี้ ยืนยันว่าในส่วนของการบริหารและการเงินของแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้มีปัญหาใดๆ โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดจ้าง โดย ร.ฟ.ท.ในฐานะบริษัทแม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างแอร์พอร์ตลิงก์บริษัทลูกให้ทำหน้าที่เดินรถ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความไม่เข้าใจภายใน ซึ่งบอร์ดได้กำชับทั้งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เร่งรัดสัญญาการจัดจ้างแล้ว รวมถึงเตือนนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (CEO) ในการทำงานที่ต้องประสานกับ ร.ฟ.ท.อย่างใกล้ชิด โดยตามระเบียบแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องทำหน้าที่เดินรถตามสัญญาจ้างของ ร.ฟ.ท. โดยจะต้องส่งรายได้ให้ ร.ฟ.ท.และได้รับค่าจ้างเดินรถ ขณะที่ตามระเบียบรายได้ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมดจะต้องถูกส่งเข้ารัฐ
“เรื่องตั้งหน่วยธุรกิจหรือยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นเรื่อวระดับนโยบาย เกินอำนาจบอร์ด จึงให้ทุกฝ่ายไปรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพื่อนำเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป ส่วนการบริหาร หากแอร์พอร์ตลิงก์ต้องการความคล่องตัวทางการเงินสามารถทำแนวทางที่เหมาะสมเสนอมา โดยศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบมาด้วย บอร์ดพร้อมพิจารณา เช่น ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาท/วัน หรือ 45 ล้านบาท/เดือน มีรายจ่ายประมาณ 15 ล้านบาท/เดือน แอร์พอร์ตลิงก์เคยบอกว่า หากมีเงินสดหมุนเวียน 5 แสนบาท/วันจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นต้น” นางสร้อยทิพย์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กับแอร์พอร์ตลิงก์ลึกๆ แล้วเป็นผลมาจากความต้องการผลประโยชน์ ซึ่งผู้มีอำนาจในแอร์พอร์ตลิงก์กำลังจัดสรรกันอยู่ โดยให้การสนับสนุน CEO ที่อยู่ระหว่างการสร้างผลงานในการทำงานช่วงแรกมาเป็นกันชนไม่ให้ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ซึ่งรู้เรื่องเข้ามาขัดขวาง โดยการดึงแอร์พอร์ตลิงก์กลับไปเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท. โดยก่อนหน้านี้พนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ตรวจสอบความเหมาะสมกรณีที่นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ทำหน้าที่รักษาการ CEO ด้วย และขณะนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตในการดำเนินงานหลายเรื่องที่ถูกต้อง และเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวก
เช่น การตั้งเคาน์เตอร์ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อขายตั๋วรถด่วน Express Line โดยพ่วงขายตั๋วรถตู้ วิ่งรถเชื่อมส่งต่อผู้โดยสารจากสถานีไปถึงปลายทางราคารวม 250 บาท (ค่าโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ 90 บาท) แก่ผู้โดยสาร ซึ่งทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่ยอมเนื่องจากเข้าข่ายธุรกิจต้องมีการแบ่งรายได้ ทำให้ต้องเสนอเรื่องกันใหม่ ส่งผลให้เปิดบริการล่าช้าจากกำหนดที่ต้องเปิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ซี่งพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ให้ข้อมูลว่า เรื่องสัมปทานวิ่งรถเชื่อมส่งต่อผู้โดยสารจากสถานีไปถึงปลายทางนั้น ภายในบริษัททราบกันดีว่าบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการเป็นเจ้าของโรงแรมย่านรัชดาฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยมีแผนจะวิ่งรถในเส้นทางสุขุมวิท สีลม รัชดาฯ และข้าวสาร ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาบริการที่เป็นบริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและเป็นการส่งเสริมการขายเพื่อให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น ดีลเลอร์ขายตั๋ว ล่าสุดได้ให้บริษัท HIS เข้ามารับสัมปทานไปโดยไม่เปิดประมูล รวมถึงบริการแท็กซี่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดสรรให้กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงเข้ามารับผลประโยชน์ทั้งสิ้น