xs
xsm
sm
md
lg

“ประภัสร์” ดันยุบบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ ภาคทัณฑ์ CEO ยอมจ่าย 6 เดือนเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
“ประภัสร์” ภาคทัณฑ์ “พีรกันต์” ปูดไม่มีเงินจ่ายพนักงานไม่เป็นความจริงจนทำให้องค์กรปั่นป่วน ชงบอร์ด ร.ฟ.ท.ยุบบริษัทให้แอร์พอร์ตลิงก์มีสภาพเป็นหน่วยธุรกิจเหมือนเดิม พร้อมจ่าย 6 เดือนเลิกจ้าง CEO ด้าน “พีรกันต์” ขอทำงาน 6 เดือนพิสูจน์ ไม่ตอบโต้ลดแรงปะทะ

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จะเสนอการยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท.ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้แน่นอน พร้อมกับรายงานถึงปัญหาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ขึ้นมา และข้อดีในการให้กลับเป็นหน่วยธุรกิจ ซึ่งในส่วนของพนักงานจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์ถือเป็นหน่วยธุรกิจที่อยู่ในรูปของบริษัทจำกัด และเชื่อว่าหากบอร์ด ร.ฟ.ท.มองอนาคตของ ร.ฟ.ท.จะไม่ขัดข้องแนวทางนี้ และเมื่อบอร์ดเห็นชอบการยกเลิกความเป็นบริษัทตามขั้นตอนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (CEO) แอร์พอร์ตลิงก์นั้นไม่ถือว่าเป็นพนักงาน จะถูกเลิกจ้าง และได้รับชดเชย 6 เดือน

ทั้งนี้ การที่นายพีรกันต์ออกมาระบุว่าไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนทำให้พนักงานตื่นตระหนกเสียขวัญ และเป็นเรื่องไม่จริงเพราะอยู่ระหว่างปรับแก้สัญญาให้เหมาะสม ซึ่ง ร.ฟ.ท.พร้อมจ่ายเงินให้ทันที เห็นว่าเป็นการเอาเรื่องที่กระทบต่อขวัญกำลังใจพนักงานออกมาพูด ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า CEO แอร์พอร์ตลิงก์พยายามทำตัวเป็นฮีโร่ ทำให้องค์กรเกิดความระส่ำระสายโดยใช่เหตุ ที่สำคัญ เคยอธิบายขั้นตอนกันไปแล้วซึ่งก็แสดงว่าเข้าใจแต่เอาไปพูดอีกอย่าง

“เรื่องนี้ต้องตำหนิ CEO แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งฐานะบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ 100% สามารถส่งหนังสือตำหนิ หรือภาคทัณฑ์ได้ทันที และยืนยันว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีเจตนาให้แอร์พอร์ตลิงก์เกิดข้อขัดข้อง ก่อนหน้านี้เคยโอนอำนาจจัดซื้อไปให้แอร์พอร์ตลิงก์แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีระเบียบ ต้องกลับมาให้ ร.ฟ.ท.จัดซื้อให้แล้วจะมาโวยวายได้อย่างไร”

นายประภัสร์กล่าวว่า ประเด็นที่มีมติ ครม.เข้ามาเกี่ยวข้องในการตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.นั้น มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย และเป็นการพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เหมาะสมในช่วงเวลาหนึ่ง ในวันนี้ ร.ฟ.ท.จะเสนอให้ทบทวนและขอเก้ไขคำสั่งในทางบริหารสามารถขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปได้

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างปรับแก้สัญญาจ้างแอร์พอร์ตลิงก์เดินรถจะเสร็จภายใน 1 สัปดาห์และสามารถจ่ายเงินค่าจ้างได้ทันที ปัญหาที่ทาง CEO แอร์พอร์ตลิงก์ไม่เข้าใจคือ ร.ฟ.ท.เป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นของ ร.ฟ.ท. และจ้างแอร์พอร์ตลิงก์ทำหน้าที่เดินรถ ไม่ได้เป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้นรายได้ทุกอย่างต้องส่งเข้า ร.ฟ.ท.หมด และ ร.ฟ.ท.จะจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้แอร์พอร์ตลิงก์ตามแผนค่าใช้จ่ายที่นำเสนอ

“พีรกันต์” ลดแรงปะทะ ขอทำงาน 6 เดือนพิสูจน์

ด้านนายพีรกันต์กล่าวว่า พร้อมรับฟังคำตำหนิของนายประภัสร์ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. และจะไม่ตอบโต้ โดยอยากขอเวลา 6 เดือนทำงานพิสูจน์ผลงานตามที่ได้วางวิสัยทัศน์ไว้ คือ เร่งแก้ภาพลักษณ์, เพิ่มจำนวนผู้โดยสารและเร่งเชื่อมต่อการเดินทางเข้า-ออกสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น โดยล่าสุดได้ประสานกับทาง น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เพื่อตั้งเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วรถไฟฟ้าด่วน แอร์พอร์ตลิงก์ (Express Line) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจะเร่งเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินจัดโปรโมชันราคาพิเศษตั๋วโดยสารร่วมกับตั๋วเครื่องบิน และทำโปรโมชันตั๋วราคาพิเศษให้พนักงานที่ทำงานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีกว่า 1,500 คน ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มขึ้นแน่นอน

แต่ไม่เห็นด้วยกับการยุบเป็นหน่วยธุรกิจเพราะทำให้การงานยุ่งยากมากขึ้น ยืนยันว่าตอนยื่นสมัครสรรหา CEO แอร์พอร์ตลิงก์ขณะนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องยุบบริษัท โดยขณะนี้ บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือน และค่าโอทีพนักงาน 11 ล้านบาทต่อเดือนหรือประมาณ 143 ล้านบาทต่อปี ค่าซ่อมบำรุงเฉลี่ย 250 ล้านบาทต่อปี

นายพีรกันต์กล่าวว่า การแยกบริษัทออกจาก ร.ฟ.ท.นั้นได้ศึกษารูปแบบไว้แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำแผนแบ่งแยกเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอบอร์ดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จากนั้นจะเสนอที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมต่อไป

“การที่ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ออกมาพูดว่าจะยุบบริษัททุกวันทำให้พนักงานหวั่นไหวขาดกำลังใจ ไม่มีความมั่นใจในการทำงาน ในฐานะ CEO ก็ทำงานลำบาก และตามข้อเท็จจริงผมทำงานภายใต้บอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ และผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ไม่ได้เป็นบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น