ASTVผู้จัดการออนไลน์/รอยเตอร์ - ส.อ.ท.เข้าพบ “ปู” เสนอ 5 ข้อแก้เงินบาทแข็ง ห่วงสินค้านำเข้าทำระบบภาคการผลิตไทยพัง เรียกร้องให้คณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1%
เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอ “มาตรการการแก้ปัญหาค่าเงินบาท จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) และข้อเสนอมาตรการการแก้ปัญหาค่าเงินบาท
โดยนายพยุงศักดิ์กล่าวว่า จากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดการประชุมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมและสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาทและการส่งออก เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง ส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอมาตรการแก้ปัญหาค่าเงิน ที่ ส.อ.ท.ได้รวบรวมจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลมีมาตรการที่เป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากวิกฤตดังกล่าว โดยบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ส.อ.ท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการอนุเคราะห์จากนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล
นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทภายในประเทศเนื่องจากเงินบาทแข็งค่าเร็วและมากกว่าในภูมิภาค และกระทบต่อซัปพลายเชน (Supply chain) ในประเทศที่ผลิตป้อนให้กับผู้ประกอบการส่งออกหันไปใช้ซัปพลายเชนต่างประเทศส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างรุนแรง จึงขอเสนอมาตรการ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. เสนอให้มีการบริหารจัดการอัตราและเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤต 2. เปลี่ยนนโยบาย Inflation Targeting หรือเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นนโยบายดูแลผสมผสาน Exchange Rate ด้วย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 3. เร่งดำเนินการลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1
4. ใช้นโยบาย Capital ว่าจะต้องห้ามนำเงินลงทุนออกไปจากประเทศไทยเป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 3 เดือน และถ้าหากยังไม่สามารถบรรเทาความผันผวนของค่าเงินได้จึงค่อยๆปรับเพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นเป็น 6 เดือน และ 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย
“4 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ค่าเงินบาทมีความหนักหนามากขึ้นและทำให้เกิดผลกระทบอีกทั้งขณะนี้ เราเห็นว่ามีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และเก็งกำไร ทำให้เกิดความกังวลวาจะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงผลกระทบกับการส่งออก นอกจากนี้ ทราบว่าทางยุโรปได้ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 33 จึงอยากให้รัฐบาลดูแลโดยผสมผสานทั้งเงินเฟ้อ เงินทุนไหลเข้า และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัญหาคงจะลุกลามถึงไตรมาส 3 และเสนอให้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ส่วนการออกพันธบัตรก็ต้องให้สอดคล้องและเหมาะสม ที่สำคัญขอให้นายกรัฐมนตรีบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อัตราค่าเงินบาทไปสู่จุดที่เหมาะสมขอให้นิ่ง รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอบคุณที่ภาคเอกชนที่ได้นำความห่วงใยมาสู่รัฐบาล ยืนยันว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะต้องทำเป็นภาพรวมคือมองทั้งนโยบายการเงินการคลังที่สัมพันธ์กัน สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำในเรื่องการลดต้นทุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเพื่อให้แข่งขันได้จะเห็นชัดว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนขณะที่เงินบาทเราแข็งค่าขึ้นทำให้กังวลถึงเงินที่ไหลเข้าประเทศ ยอมรับว่ามีความกังวลการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ หรือการลงทุนที่ไม่เกิดจากการกระตุ้นที่แท้จริงทำให้เกิดปัญหา
ทั้งนี้จะนำข้อเสนอและข้อกังวลใจของภาคเอกชนทั้งหมดไปสื่อสารกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลังและ ธปท.โดยคณะกรรมการบริหารการเงิน รวมถึงกระทรวงการคลัง สำหรับนโยบายการคลังที่ได้สั่งการไปนั้นมีหลายส่วนที่จะดูแลใช้เงินบาทในการลงทุนให้มากที่สุด แม้แต่โครงการ 2 ล้านล้าน หรือโครงการอื่นที่รัฐบาลจะลงทุน จะเน้นใช้เงินในประเทศให้มากที่สุด ตนยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการประงานกับทุกส่วนและเร่งติดตามหามาตรการในการแก้ไขผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี และจากหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจะนัดหารือกับทาง ส.อ.ท.อีกครั้ง
ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าคงต้องผสมผสานและดูในหลายมิติ ซึ่งคิดว่าข้อเสนอของ ส.อ.ท.เป็นข้อเสนอที่เหมาะสมควรนำไปพิจารณาปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เรากังวลตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ได้เข้าไปพบและเตือน ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ แม้ช่วงนี้จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ดูแล้วยังมีความผันผวนไม่แน่นอน ผู้ประกอบการยังไม่กล้ารับราคาสินค้า เพราคำนวณไม่ได้ เนื่องจากค่าเงินบาทไม่นิ่ง
ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลคือไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบ และจะกระทบทั้งระบบตั้งแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ส่ง ผลกระทบให้ยอดขายภาคอุตสาหกรรมส่งออกตกลง ขณะเดียวกันเวลานี้มีปรากฏการณ์ สั่งของนอกเข้ามามากขึ้น
“ดังนั้นฝ่ายบริหารต้องบริหารแบบเป็นภาวะวิกฤต ซึ่งค่าเงินบาทจะได้รับผลกระทบอีกไตรมาสหรือสองไตรมาสข้างหน้าอย่างแน่นอน จะเห็นได้ว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะโซนยุโรปลดดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งเวลานี้เป้าส่งออกที่เคยตั้งไว้ 8-9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้คงไม่เป็นไปตามนั้น และคิดว่าเหตุการณ์คงจะหนักกว่านี้และจะเห็นผลใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะสินค้าเรามีคู่แข่ง แต่เราไม่ย่อท้อในการแก้ไข เราเป็นประเทศเล็กต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยวันนี้ได้เรียนนายกฯ การบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการกัน ดูภาคผลกระทบหากแต่ละหน่วยงานดูแลเฉพาะเรื่องของตัวเองอย่างเดียวโดยไม่ดูแลเรื่องของคนอื่นมันก็ไม่ถูกต้องดูภาพรวมด้วย และบางมาตรการต้องรวมมือผสมผสานกันโดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การมาพบนายกฯ อยากเห็นการแก้ไขปัญหาเร็วแค่ไหน นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ต้องเห็นผลเร็วที่สุด ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรจะประชุมกันให้บ่อยขึ้นกว่าเดิมเพื่อบริหารการเงิน การคลังให้ทันเหตุการณ์ และหามาตรการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยแก้ไข หาก 1-2 สัปดาห์นี้ยังไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหา ทางสภา ส.อ.ท.คงจะต้องไปหารือกับสมาชิกอีกครั้งเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป ปกติถ้าเรื่องไม่ใหญ่ ไม่หนัก จะไม่มาพบนายกฯ เอกชนจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่โตมหาศาล เป็นวาระของชาติ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแรง
“จากค่าเงินที่แข็งตัว ขณะนี้ 4 เดือนเราขาดดุลอยู่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญคิดเป็นเงินกว่า 300,000 บาท วันนี้ภาคอุตสาหกรรมหลายส่วน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และสิ่งทอ เริ่มหันไปนำเข้าสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ จะกระทบต่ออุตสาหกรรม Supply chain หรือโซ่อุปทานของไทยได้ ระบบผู้ลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ที่ไทยแข็งแกร่งจะพังไปด้วย” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน แล้วในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาล ที่ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
กนง.จะประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ขณะที่บาท/ดอลลาร์เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี ที่ 28.55 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลและภาคธุรกิจเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หรือออกมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาท
อย่างไรก็ดี ความกังวลของตลาดว่า ธปท.จะออกมาตรการในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และล่าสุดมาอยู่ที่ 29.68/71 แต่ก็ยังแข็งค่าขึ้นกว่า 3% จากสิ้นปีก่อน และยังคงเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชียในปีนี้