โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
หลังจากในคราวที่แล้ว เราได้พูดถึงการใช้นโยบายการเงินด้วยการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ว่ามีลักษณะอย่างไรไปแล้ว ในสัปดาห์นี้เราจะมาดูมุมมองและแนวความคิดของนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์หลายๆท่าน ที่มีต่อการใช้นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อกันค่ะ
เริ่มจากประเด็นของประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีความเห็นว่า ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการจึงถูกกำหนดโดยอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย ควรที่จะเป็นนโยบายภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) มากกว่ากรอบของอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านที่ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กและมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด โดยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับราคาของสินค้าต่างๆ ในประเทศไทย มักจะเคลื่อนไหวตามราคาสินค้าในตลาดโลก (Price Taker) เป็นหลัก
ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศไทยจึงมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ และทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม (จากสถิติพบว่ามีค่าความสัมพันธ์สูงถึง 80%) การดำเนินนโยบายทางการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อ (ที่ขึ้นอยู่กับทิศทางเงินเฟ้อของโลก) จึงอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ได้ให้ความเห็นและมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยมองว่าในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีสหสัมพันธ์กับเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเพียงอย่างเดียว แต่ความมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง และการรักษาวินัยทางการคลังของกลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจมีผลทำให้ทิศทางเงินเฟ้อของประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์ตามกันไปด้วย
แต่สำหรับแนวความคิดที่สนับสนุนให้ใช้นโนบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป ก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน มีมุมมองว่าสถานการณ์ในด้านต่างๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ เหมาะสมที่จะควบคุมด้วยการดำเนินนโยบายการเงินแบบ Inflation targeting มากกว่า ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) การใช้ Exchange Rate Targeting ในช่วงเวลานั้นได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเข้าไปดูแลค่าเงินนั้นจะต้องใช้เงินทุนสำรองเป็นจำนวนมาก และทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน ยังมีมุมมองเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ไม่ได้หมายถึงการควบคุมดูแลในด้านของอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ธนาคารกลางยังสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยในการดูแลเสถียรภาพทางด้านราคา เสถียรภาพทางการเงิน รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน โดยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ สามารถดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยช่วยควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ ดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ และนโยบายดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลงานวิจัยของ IMF ยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่ใช้ Inflation Targeting ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีระดับเงินเฟ้อภายในประเทศที่ลดลง และมีเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของประเทศเกิดใหม่ (Emerging Country) แม้บางช่วงเวลาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตภายนอกบ้างก็ตาม นอกจากนี้แล้ว ยังมีงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2551 ที่แสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลในการควบคุมเงินเฟ้อได้เร็วกว่า แต่ผลจากการควบคุมนั้นก็จะหายไปเร็วกว่าการใช้ดอกเบี้ยเป็นตัวควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งให้ผลที่มั่นคงและยาวนานกว่า
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าธนาคารกลางจะเลือกใช้นโยบายการเงินแบบใดก็ตาม แต่วัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายก็คือการมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเป็นหลัก ในขณะที่ชื่อ และเครื่องมือต่างๆ ของนโยบายเป็นเพียงสิ่งประกอบที่มีความสำคัญในลำดับรองลงไปค่ะ
ติดตามบทความตอนแรกได้ที่นี่ http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9550000117526