xs
xsm
sm
md
lg

‘Inflation Targeting’ ‘Inclusive Growth’ รหัสความคิดในแนวรบยึดแท่นพิมพ์เงินบาท !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ปราการด่านสุดท้ายที่กลุ่มอำนาจใหม่ยังทลายไม่สำเร็จ ณ นาทีนี้เห็นมีอยู่ที่หนึ่ง

แบงก์ชาติ

เพราะผู้ว่าการฯ ยังมี พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2484 ที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งใหญ่ในปี 2551 เป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ตามใจชอบ แต่ก็คงอีกไม่นานหรอก กฎหมายที่ดูเหมือนเขียนไว้รัดกุมพอควรยังมีช่องว่างให้ฝ่ายการเมืองแทรกเข้ามาได้ ตอนนี้ตัวประธานคณะกรรมการฯคือดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูรก็เป็นคนของฝ่ายการเมืองเต็มตัว นำแนวคิดของฝ่ายการเมืองที่สวนทางกับผู้ว่าการฯและพนักงานแบงก์ชาติเข้ามาผลักดันเต็มที่

ที่วิวาทะกันมาโดยตลอดก็คือจะกำหนดนโยบายการเงินโดยยึดหลักอะไร ฝ่ายการเมืองเห็นว่าต้องยกเลิกหลักคิดเดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว

Inflation Targeting : กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

แล้วหันมายึดหลักใหม่ที่เรียกว่า

Inclusive Growth : สนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

สารัตถะของแนวคิดที่เห็นว่านโยบายการเงินของแบงก์ชาติที่ยึด Inflation Targeting ล้าสมัย ควรเลิก แล้วหันไปยึดแนว Inclusive Growth นั้น พูดภาษาชาวบ้านที่ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์มาอย่างผมก็คือปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

เงินเฟ้อเป็นผลครับ

เป็นผลมาจากเหตุที่พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ว่าปริมาณเงินในระบบมากขึ้น

ปริมาณเงินในระบบจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ตั้งเป้าลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งใหญ่ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทในรอบ 3 - 5 ปี กล่าวคือก้อนแรกเป็นการลงทุนป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ก้อนนี้ชัดเจนว่าต้องใช้หมดภายในปีสองปีนี้แน่ เพราะพระราชกำหนดระบุไว้ให้กู้เงินทั้งก้อนนี้เสร็จภายในสิ้นมิถุนายน 2556 ก้อนต่อไปเป็นก้อนใหญ่มาก 2.07 ล้านล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้าไปจนถึง 5 ปี ก้อนนี้เห็นว่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน 1.6 – 2.0 ล้านล้านบาท

สรุปว่าเงินก้อนใหญ่จะมาจาก

- เงินกู้ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

- ทุนสำรองระหว่างประเทศที่แบงก์ชาติดูแลอยู่

รัฐบาลบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะประเทศไทยมีเงินออมมาก แต่คนที่เห็นว่ารัฐบาลกำลังลวงให้คนไทยหลงในวาทกรรมดั่งว่าแล้วล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่ได้เป็นของเราจริงทั้งหมดออกมาใช้ก็กริ่งเกรงว่าเอาเข้าจริงแล้วส่วนหนึ่งที่จะเป็นส่วนใหญ่พอควรในเงินก้อนใหญ่นี้ก็คือ

"พิมพ์เงินบาท"

แบงก์ชาตินอกจากมีหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินแล้ว อีกฐานภาพหนึ่งคือหน้าที่พิมพ์เงินบาท

อยากจะเชียร์ผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุล เพราะไม่อยากเห็นฝ่ายการเมืองยึดแบงก์ชาติ ซึ่งก็คือยึดแท่นพิมพ์เงินบาท ได้สำเร็จ อันจะทำให้เขาได้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จทั้งด้านนโยบายการคลังและด้านนโยบายการเงิน แม้อาจจะพอเชียร์ขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะรักษาฐานที่มั่นสุดท้ายไว้ได้ตลอดไป เพราะฝ่ายการเมืองแม้มานิ่ม ๆ เนียน ๆ แต่ก็เดินหน้ารุกคืบไปได้เรื่อย ๆ

วันนี้แม้จะพอตำหนิดร.โกร่งได้ว่าทำผิดมารยาทและล่อแหลมต่อการทำผิดพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2484 ที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งใหญ่ในปี 2551 กรณีพูดจาต่อสาธารณะในเรื่องนอกเหนือหน้าที่ประธานบอร์ด แต่สถานการณ์กำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อว่าอาจจะเปลี่ยนแปลง

หากฝ่ายการเมืองสามารถใช้บอร์ดแบงก์ชาติซึ่งมีคนนอกมากกว่าคนใน แต่งตั้งคนของตนมาเป็นรองผู้ว่าฯแบงก์ชาติที่จะว่างลง 2 ตำแหน่ง โดยเอาคนนอกมาแทนคนใน ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการนโยบายการเงินทันที เพราะรองผู้ว่าฯ 2 ตำแหน่งนี้เป็นกรรมการนโยบายการเงินโดยตำแหน่ง

ผู้ว่าฯประสารฯอาจกลายเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการนโยบายการเงิน

จากนั้น นโยบายดอกเบี้ยต่ำ-ค่าเงินบาทอ่อน ไม่ยึดแนว Inflation Targeting เน้นดูอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าเงินเฟ้อ ก็จะเดินหน้าฉลุย

ซึ่งในทางปฏิบัติก็เสมือนการพิมพ์เงินบาทเพิ่มนั่นเอง

ต่อให้ไม่ปลดผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุลก็ไม่มีผลอะไร และถ้าจะปลดจริง ๆ ก็มีช่องให้ทำได้

ผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุลอาจจะต้องสวมวิญญาณอดีตนายกฯสจม.ปี 2516 เข้าสู่สมรภูมินี้ และต้องเดินแนวทางปลุกพลังมวลชนให้ตื่นทางปัญญาลุกขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันแท่นพิมพ์เงินบาทให้พ้นจากมือฝ่ายการเมือง

ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย

เพราะนาทีนี้ฝ่ายการเมืองก็มีมือทำงานมวลชนรุ่น 2516 อยู่ด้วย แถมมวลชนก็ดูเหมือนยังมีอคติต่อแบงก์ชาติอยู่พอสมควร และเรื่องที่จะออกมาทำความเข้าใจก็เป็นเรื่องยากพอสมควร

เหนื่อยแทนครับ แต่ขอเป็นกำลังใจให้ !!

ถามว่าแล้วนโยบายรัฐบาลมันไม่ดียังไงหรือ ทำไมต้องค้านด้วยล่ะ ลงทุนมาก ๆ ก็น่าจะดีนะ เศรษฐกิจภายในสะพัดไม่ต้องพึ่งภาคส่งออกมากเกินไป

ผมจะยังไม่พูดเรื่องเงินบาทจะเป็นธนบัตรกงเต๊กในอนาคตนะ

แต่จะขอถามคำถามพื้นฐานก็คือมันจะไม่สวนทางกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 หรือ

เพราะการออกนโยบายนี้คือการยอมรับว่าผู้มีรายได้น้อยมีปัญหาค่าครองชีพ โดยตรรกะก็เพราะมีเงินเฟ้อสูงพอสมควรอยู่แล้ว การที่รัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็ต้องแลกมาด้วยความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ แล้วถ้าต้องมีเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก นโยบายที่ทำไปก็สิ้นผลทันที ค่าแรงและเงินเดือนที่ขึ้นไปหักกลบลบกับเงินเฟ้อแล้วจะขาดทุนยับ

หรือว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะออกแคมเปญค่าแรงขั้นต่ำ 400 เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 อีก

แล้วก็เชื่อว่าคนไทยจะเลือกท่านกลับเข้ามาอีก

ถ้าอย่างนั้นก็ขอคำถามต่อไปอีกสักชุดว่า ภาคธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร ศักยภาพการแข่งขันของประเทศจะเป็นอย่างไร ?

ใช่หรือไม่ว่าแม้มีปริมาณเงินในระบบมากขึ้น แต่หักกลบลบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและไม่มีข้อจำกัดเหมือนเมื่อยังมีนโยบายการเงินที่ยึดกรอบ Inflation Targeting แล้ว คนไทยส่วนใหญ่จะจนลง

ยกเว้นคนไทยส่วนน้อยที่เป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้างข้ามชาติ

และแน่นอนที่สุด..คนไทยที่อยู่ในวิสาหกิจธุรกิจการเมืองในนามของ...

“นักการเมือง”
กำลังโหลดความคิดเห็น