ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-"เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ถ้าเราดำเนินนโยบายถูกอย่างนี้ก็ทำอะไรเราไม่ได้ เช่นเรื่องการตั้งดอกเบี้ย ถ้าเราตั้งไว้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐมากๆ กรณีนี้เหมือนเป็นการเปิดช่องโหว่ให้กองทุนอีแร้งเข้ามาเล่นงานได้ ซึ่งตัวนี้ต่างหากเป็นตัวที่สร้างความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเงิน”
“ดังนั้นหน้าที่ของนโยบายการเงิน คือ ดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ" คำกล่าวของดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานเสวนาหัวข้อ "พลวัตรเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก" ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงค่ำของวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
นั่นทำให้ความต้องการของ “ดร.วีรพงษ์” ชัดเจนอย่างยิ่ง
ความชัดเจนที่ว่า ไม่ใช่เรื่องของการดำเนินการนโยบายการเงิน
แม้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะกล่าวว่า “ธปท. จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ เนื่องจากการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) กับสถานการณ์ในปัจจุบันถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว”
แต่ความชัดเจนกลับเป็นเรื่องตำแหน่ง “ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย” คนปัจจุบัน
โดยดร.วีรพงษ์ กดดันให้มีการเปลี่ยนตัวทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมการธนาคารแห่งประเทศ
แม้ดร.วีรพงษ์ ได้อธิบายสาเหตุการเปลี่ยนนโยบายบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อว่า “เป็นเพราะเงินเฟ้อทั่วโลกมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น เพราะโลกเปิดกว้างมากขึ้น และประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตรก็อยู่ในกฎเกณฑ์ของ WTO ดังนั้นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรากฎในสินค้าประเทศต่างๆ จึงถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของโลก ไม่ได้เกิดจากนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่ง”
"โลกทุกวันนี้ดีมานด์น้อยกว่าซับพลาย ดังนั้นหน้าที่ของนโยบายการเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ ที่จะดูแลเงินเฟ้ออีกต่อไป เพราะดูแลไปก็ทำอะไรไม่ได้ แต่นโยบายการเงินมีหน้าที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน หรือที่เรียกกันว่า Inclusive Growth " ดร.วีรพงษ์กล่าว
นั่นหมายความว่า นโยบายการเงินต้องให้น้ำหนักกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ดร.วีรพงษ์ อ้างว่า ความเห็นของเขาเกี่ยวกับต่อนโยบายการเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น ถือเป็นความเห็นที่สอดคล้องไปในทางเดียวกับ นางคริสติน ลาการ์ด เพราะตอนที่ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เดินทางมาประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินของโลก
ทั้งนี้นางลาการ์ด ยังมีความเห็นด้วยว่า ต้นเหตุของความไม่มั่นคงของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศเล็กๆ คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เรื่องเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนจะมีเสถียรภาพได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล และเชื่อมโยงกันทั่วโลกยิ่งกว่าอัตราเงินเฟ้อ มีความเหมาะสมในเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์มากน้อยขนาดไหน
โดยเฉพาะภาวะการณ์เศรษฐกิจของไทย
แต่ประเด็นสำคัญมากกว่านั้น ก็คือ เขาได้หารือกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. แต่ก็พบว่าความเห็นยังไม่ตรงกัน
ขณะที่ความคิดเห็นของกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง สะท้อนถึงความต้องการ “ควบคุม” ทิศทางการทำงานของแบงก์ชาติเป็นอย่างดี
“นโยบายด้านการคลังของรัฐบาลชุดนี้ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าในสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้จากภาษีโดยไม่ไปกระทบอัตราการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายด้านการเงินก็ได้แต่ภาวนาว่า นายวีรพงษ์ รามางกูร จะสามารถส่งผ่านความคิดทางเศรษฐกิจมหภาคไปยังท่านที่ได้ดำเนินการทางด้านนโยบายการเงินอยู่”
“ท่าน” ในที่นี้ของ กิตติรัตน์ คงจะเป็นใครไม่ได้ นอกจากดร.ประสาร
"ถ้าจำกันได้ หลายเดือนก่อนมี รมว.คลังของประเทศนี้ พูดว่า อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องขบขันหาว่าพูดทำไม เรื่องนี้ผมอยากชี้แจงว่า ผมเห็นมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าการส่งออกของเราจะเผชิญกับความยากลำบากขึ้น ดังนั้นหากเราอยากส่งออกได้มากขึ้น มันมีกลไกที่สำคัญอีกหนึ่งตัว คือ อัตราแลกเปลี่ยน" มุมมองของกิตติรัตน์ต่อการทำงานของแบงก์ชาติ
เขาบอกว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่รู้ถ้าเงินบาทอ่อนลงจะมีผลต่อเงินเฟ้อ และไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นการมีเงินเฟ้อที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจซึ่งเติบโตจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มั่นใจว่ามีเครื่องมือประคับประคองเงินเฟ้อได้ หากอัตราแลกเปลี่ยนจะยอมอ่อนลงมาอีกหน่อยเพื่อทำให้การส่งออกเติบโตดีขึ้นอีกเล็กน้อย
แรงกดดันต่อ “อัตราแลกเปลี่ยน” ยังไม่เสื่อมคลาย !!
"ผมมีความเชื่อว่าท่านที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายต่างๆ น่าจะอยู่ในวิสัยที่แปลความออกว่า ผมในฐานะรมว.คลังของประเทศ พูดอย่างนี้คงไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ ก็ไม่เป็นไรถือว่าได้พูดแล้ว ที่บอกว่าอยากเห็นดอกเบี้ยอ่อนก็เคยพูดไปแล้ว แม้ถูกคัดค้านบ้าง แต่ก็พอใจ เพราะได้พูดตั้งแต่ตอนดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.5% ตอนนี้ก็มาอยู่ที่ 3% ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วน่าจะอยู่เพียง 2.5%" ความต้องการของ รมว.คลังในตัวเลขอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ย 3% ในความหมายของกิตติรัตน์ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผย รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2555 วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2555 โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 7 คนได้แก่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธานและผู้ว่าการ) นางสุชาดา กิระกุล (รองประธานและรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน) นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ (รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร) นายอำพน กิตติอำพน นายศิริ การเจริญดี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายอัศวิน คงสิริ
เนื้อหาที่สำคัญคือ การพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสม
โดยคณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงและอ่อนแอกว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยมากขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพและแรงกดดันเงินเฟ้อมีน้อยลง ภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวมีมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างชัดเจน นโยบายการเงินสามารถมีบทบาทช่วยดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจหากจำเป็น
อย่างไรก็ดี กรรมการฯ ประเมินน้าหนักความเสี่ยงแตกต่างกันบ้าง ดังนี้
กรรมการฯ 2 ท่านเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี เพราะประเมินว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดและทาให้ภาคการส่งออกชะลอตัว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่แรงกระตุ้นด้านการคลังอาจล่าช้าและไม่สามารถส่งผลสนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มที่ ดังนั้น นโยบายการเงินจึงควรผ่อนคลายเพิ่มเติมแต่เนิ่นๆ เพื่อประคับประคองความเชื่อมั่นและสนับสนุน การลงทุนภาคเอกชนให้สามารถขยายตัวได้ต่อไป
กรรมการฯ 5 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยประเมินว่า นโยบายมหภาคของประเทศยังเหมาะสมและเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากเศรษฐกิจในภาพรวมที่ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่าและการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูงสะท้อนภาวะการเงินของประเทศที่ยังผ่อนปรน
นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจะต้องใช้เวลานานในการแก้ไข จึงควรสงวนทางเลือกในการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป
คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยจะติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น
นั่นหมายความว่า แขนขา 2 คนของ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ยังไม่สามารถคัดง้างกับเสียงส่วนใหญ่ใน กนง.ได้
ทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่ลดลง ตามความต้องการของกิตติรัตน์
นั่นหมายความว่า...แรงกดดันต่อเก้าอี้ของ “ประสาร” จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น !!