xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายการเงินของไทย..... แบบไหนถึงจะเหมาะสม (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการใช้นโยบายการเงินของไทยถูกหลายๆฝ่ายหยิบยกเพื่อนำมาถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายของตัวนโยบาย รวมไปถึงประสิทธิภาพจากการใช้นโยบาย ว่ามีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันหรือไม่ โดยนโยบายทางการเงินที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกัน ประกอบไปด้วย “นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ” และ “นโยบายการเงินแบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงนโยบายการเงินทั้ง 2 แบบกันค่ะ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และเพราะเหตุใดประเทศไทยถึงเลือกนโยบายการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดตราสารหนี้ไทยค่ะ

นโยบายการเงิน คือ การกำหนดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือการดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายดังกล่าว คือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งในปัจจุบันธนาคารกลางของทุกประเทศดำเนินนโยบายการเงินโดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยอาจมีกรอบของนโยบายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระบบ และสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย เครื่องมือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ใช้ในการตัดสินด้านนโยบายการเงิน มีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ที่ผ่านๆมา เราจะเห็นว่า ธปท. ใช้เครื่องมือทางด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลักในการบริการนโยบายการเงิน

ในอดีตนั้น ประเทศไทยได้ผ่านการใช้นโยบายการเงินมาแล้วในหลายๆ รูปแบบ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ (1) ช่วงก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 ธปท. ใช้นโยบายการเงินแบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน (2) ช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 - พฤษภาคม 2543 ใช้นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายปริมาณเงิน และ (3) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2543 จนถึงปัจจุบัน ใช้นโยบายการเงินแบบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

โดยนโยบายการเงินแบบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ที่เราใช้กันอยู่ในทุกๆวันนี้ เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 โดย ธปท. จะทำหน้าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ให้อยู่ในช่วงที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยนั้น ถูกกำหนดไว้ที่ช่วง 0.5 - 3.0% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ถูกคำนวณโดยหักราคาสินค้าหมวดอาหารและพลังงานออกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานมีความผันผวนสูงในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความผันผวนตามไปด้วย) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง. จะมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ โดยจะพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เป็นองค์ประกอบ หรือสรุปให้ง่ายขึ้นก็คือ นโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting คือ การที่ธนาคารกลางกำหนดช่วงของเงินเฟ้อที่ต้องการรักษาไว้ล่วงหน้า แล้วจึงทำการปรับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ได้ตั้งเอาไว้ โดยการปรับปริมาณเงินให้มีความเหมาะสม จะถูกกระทำผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกทอดหนึ่ง และด้วยนโยบายการเงินในรูปแบบนี้ จะช่วยให้ ธปท. สามารถรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา ควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางด้านผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไปพร้อมๆกันค่ะ

ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ถือเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อของไทย ส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกเป็นหลัก และหากพิจารณาถึงการนโยบายการเงินในปัจจุบัน ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือ ญี่ปุ่น เราจะพบว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนเข้าใกล้ศูนย์ พร้อมๆกับการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ เช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE) ควบคู่กันไปด้วย และด้วยความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย (ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 3%) เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยระดับใกล้ศูนย์ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ อาจส่งผลให้มีเงินไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดกว่า โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น จากตัวเลขอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.18% ส่วนอายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.71% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Treasury) อายุ 2 ปีอยู่ที่ 0.27% และ 10 ปีอยู่ที่ 1.77% ค่ะ

โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
sarokarn@thaibma.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น