xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางการบริหารการเงิน และ อัตราแลกเปลี่ยน ระวัง ! อย่าเดินซ้ำรอย วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น … โดย มนตรี ศรไพศาล

ขณะที่ข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง มีออกมามากมายหลายเรื่อง ในเรื่องที่เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ(Economic Risks) ที่แท้จริงของประเทศนั้น ผมเห็นว่า ขณะนี้ มีอีก 2 เรื่องด้านนโยบายการบริหารด้านการเงินคือ (1) ประเด็นการปรับเปลี่ยนกรอบการดูแลอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)อาจถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rates Targeting) แทน และ (2)ประเด็นการก่อสินเชื่อไร้คุณภาพในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจากการจำนำข้าวในราคาสูง ที่ทำให้ผมต้องฝันร้ายนึกถึงสมัยปี 2540 อีกครั้งหนึ่ง

ในประเด็นแรก เป็นเรื่องที่ชวนให้นึกถึงฝันร้ายช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างแท้จริง เพราะช่วงนั้นประเทศไทย ก็ใช้เป้าหมายการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ ธปท. ต้องใช้ทุนสำรองแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนรวมถึงสัญญาล่วงหน้าต่างๆ จนขาดทุนไปหลายแสนล้านบาท
จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่เคยมีในระดับ 4หมื่นล้านเหรียญ (สรอ.) เหลือสุทธิเพียง 7 พันล้านเหรียญ !

การที่อัตราแลกเปลี่ยน คือ “ราคา” ของค่าเงิน นั้น เป็นสิ่งที่กำหนดได้โดยนโยบาย ซึ่งกำหนดโดยคนไม่กี่คนนั้นมี “ความเสี่ยง” ต่อเรื่อง ความโปร่งใส การใช้ข้อมูลภายใน และการสร้างประโยชน์ของ “คนกันเอง” เป็นอย่างมาก

ดังช่วงหนึ่ง ธปท. ต้องใช้ทุนสำรองมหาศาล เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาท ให้ยืนอยู่ได้ วันนั้นเข้าใจว่าบาทได้แข็งค่าถึง 22 บาท / ดอลลาร์ แสดงว่า ธปท. ต้องใช้ทุนสำรอง ซื้อเงินบาท ขายดอลลาร์ คือขายดอลลาร์ออกที่ 22-25 บาท / ดอลลาร์ ไม่ต้องสงสัยว่า แล้วจะขาดทุนเท่าไร เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลาต่อมากลายเป็น 30, 40, 50 บาท / ดอลลาร์ และกลับกัน ผู้ที่ซื้อดอลลาร์ไว้ในราคาถูกเช่น 22-25 บาท/ดอลลาร์จะกำไรเท่าไรเมื่อค่าเงินบาทถูกทุบจนอ่อนตัวลงไป

แต่ช่วงนั้น เราได้เห็นข่าวนักการเมืองชนแก้วไวน์ แสดงความยินดีกันว่าต่อสู้ชนะโดยขายดอลลาร์ออกไปมหาศาล ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกเมื่อเทียบกับเงินบาท

และหากติดตามข่าวกันเรื่องปริศนา กองทุนลับ “วินมาร์ค”ที่นำเงินเข้ามาซื้อหุ้นจากครอบครัวอดีตผู้นำนับพันล้านบาท ช่วงก่อนเลือกตั้งสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งครั้งแรกก็น่าสงสัยว่า กองทุนวินมาร์คนั้น มีเงินมากมายมาจากไหน ? ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯอีกด้วย

และหากหา Google “เสนาะ ปราศรัย เผาบ้านเมือง เอาประกัน” ก็จะพบเนื้อหาน่าสนใจ เช่น

“การที่มีคนไปซื้อประกันความเสี่ยง เรื่องค่าเงินบาทเอาไว้มากๆ หรือไปซื้อดอลลาร์เอาไว้มากๆก่อนประกาศลอยค่าเงินบาท ก็เหมือนจุดไฟเผาบ้านตัวเองเพื่อเอาเงินประกัน เศรษฐกิจของชาติพังเสียหายแต่ตัวเองรอดพ้นวิกฤติเพราะได้ประกัน” นายเสนาะกล่าว

วันนั้น ประเทศเสียหายจนเหลือทุนสำรองสุทธิเพียง 7 พันล้านเหรียญ

ต้องใช้เวลาสะสมทุนสำรองมาอย่างเข้มแข็งยาวนาน ปัจจุบัน มีทุนสำรองสูงถึง 1.9 แสนล้านเหรียญ ในช่วงปีที่ผ่านมาและปัจจุบันแม้ลดลงมาบ้าง ก็ยังมีถึง 1.78 ล้านเหรียญ ซึ่งอย่าให้ต้องเสียหายกันคล้ายๆปี 2540 กันอีกเลย

หรือ เรื่องการเผาบ้านเมืองเอาประกันส่วนตัวเป็นเรื่องจริง ? มีคนอยากรวยอีกรอบ ? ก็ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลยสำหรับประเทศ หากเป้าหมายเศรษฐกิจ ไม่ใช่ “เป้าอัตราแลกเปลี่ยน” ธปท.ก็ไม่มีหน้าที่ต้องใช้ทุนสำรองฯไปแทรกแซงค่าเงินมากเกินไป ธปท. เพียงทำหน้าที่ แทรกแซงให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนมากจนเอกชนผู้นำเข้าและส่งออกทำงานยากก็พอเพียงแล้ว

และ “เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ” ก็สมควรแล้ว เพราะอัตราเงินเฟ้อ สะท้อนความทุกข์สุขของประชาชนเพราะเป็นการวัดความแพงของสินค้า

ซึ่งแม้การใช้ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ไม่ใช่ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ก็ถูกต้องแล้ว โดยได้ตัดเรื่องราคาพลังงานและราคาโภคภัณฑ์ประเภทอาหารออกไป เพราะ ราคาผันผวนมากจนคุมไม่ได้ และสร้างความบิดเบือนของอัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงินได้ง่าย

ผมจึงเห็นด้วยว่า ธปท. น่าจะรักษานโยบาย “เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ” ต่อไป

ในประเด็นที่สอง คือ การสะสมหนี้คุณภาพต่ำ อย่างกรณีสะสมการจำนำข้าวตันละ15,000 บาท/ตัน การจำนำนั้น โดยหลักการ ก็คือการปล่อยสินเชื่อ และมีสินทรัพย์ที่ใช้จำนำนั้นค้ำประกัน แต่ในเมื่อ ธกส. ต้องรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดเป็นอย่างมากในปัจจุบันก็ทำให้โอกาสที่จะเป็นจำนำขาดจะมีสูงมาก และหากต้องนำขายทอดตลาดในช่วงราคาต่ำ ก็จะขาดทุนมหาศาลซึ่งก็จะเป็นปัญหาจากการสะสมสินเชื่อคุณภาพต่ำเกินไป

ในยุคหนึ่ง หนี้ที่สะสมในสถาบันการเงินที่มีปัญหา เริ่มตั้งแต่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยาการ ก็ทำให้ในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศปิดสถาบันการเงินในที่สุด 56 แห่ง สินเชื่อคุณภาพต่ำและคุณค่าต่ำที่สะสมไว้หลายแสนล้านก็ทำให้ประเทศขาดทุนหลายแสนล้านบาท

สิ่งที่นักการเมืองทำได้ในยุคนั้น คือ สร้างเรื่องเท็จ ใส่ร้าย ปรส. ว่าขายขาดทุน แต่ก็เป็นเพราะ ของที่ขายนั้นคุณภาพต่ำ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา เมอริลลินช์ขายตราสารหนี้ในมือออก ที่ราคา 22 เซนต์/ดอลลาร์ไม่มีใครตำหนิการขาย หรือ ผู้ขาย เขารู้ และเขาก็ตำหนิอย่างถูกต้องว่า ขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อนั้น หละหลวมทำให้ได้สินทรัพย์คุณภาพไม่ดี และมีมูลค่าที่แท้จริงต่ำ ทำให้ขาดทุนมหาศาล

เรื่องความไม่โปร่งใสต่อนโยบายเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน และการสะสมหนี้คุณภาพต่ำคุณค่าต่ำ ทำความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยอย่างมากในปี 2540 ...ผมหวังว่าจะไม่กลับมาสร้างฝันร้ายและเรื่องร้ายให้กับเศรษฐกิจไทยกันอีกในรอบต่อไป...ขณะนี้ ยังมีเวลาขอให้กำลังใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ดำเนินนโยบายกันด้วยความรอบคอบ เพื่อเศรษฐกิจไทยมั่นคง แข็งแรงเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไปครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น