xs
xsm
sm
md
lg

“โกร่ง-โต้ง”รวมหัวสับขาหลอก อ้างลดดบ. แก้ทุนนอกไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

วีรพงษ์ รามางกูร
ข่าวปนคน คนปนข่าว

การให้ความเห็นล่าสุดของ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างการปาปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Thailand's Economic Outlook 2013" ที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ที่ระบุว่า

"ผมว่าถ้าดอกเบี้ยเรากับสหรัฐต่างกันขนาดนี้ การไหลเข้าของเงินจะเอาไม่อยู่ ฟองสบู่ในตลาดทุนจะยิ่งเพิ่มขึ้น จะให้ธปท.แทรกแซงคงทำได้ไม่มาก ผมว่าวิธีการที่หยุดเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าเห็นจะมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องลดดอกเบี้ยลง เพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า"

ฟังดูเหมือนมีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ร้อนๆ เรื่องเงินทุนนอกไหลเข้ามาจึงเสนอความเห็นเพื่อแก้ปัญหา แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ต้องมองย้อนกลับไปถึงจุดยืนของรัฐบาลชุดนี้ และวีรพงษ์ ก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารชาติ ว่า

คนเหล่านี้มีเป้าหมายอย่างไรเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. จะเป็นผู้พิจารณาโดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี

ก่อนหน้านี้ วีรพงษ์ เคยออกมาอ้างคำพูดของ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายการเงินจากการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) มาใช้กรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) แทน ซึ่งก็โดนตอกกลับจนหน้าหงายกลับมาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง

เพราะ ผอ.ไอเอ็มเอฟ มีความชื่นชมไทยด้วยซ้ำที่ใช้นโยบายนี้ดูแลเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม จนวีรพงษ์ หายหัวไปจากสังคมไทยระยะหนึ่ง ไม่กล้าออกมาโต้แย้งกับการโกหกสีขาวดังกล่าว แต่อย่างใด

ที่น่าสนใจคือ หากเรามองย้อนถึงท่าทีของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็เคยมีคำสั่งให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับไปทบทวนกรอบเงินเฟ้อ โดยอ้างว่าตัวเลขที่กำหนดเป็นกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 0.5-3 ลง เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีไวท์ไล ยังมีสนับสนุนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่แตกต่างไปจากความคิดของวีรพงษ์

การสอดประสานกันระหว่างกิตติรัตน์กับ วีรพงษ์ นับเป็นสัญญาณอันตรายอีกครั้ง สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกกดดันอย่างหนักเพื่อให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายตามฝ่ายการเมือง

เพราะแม้ว่าวีรพงษ์จะสวมหัวโขนในตำแหน่งประธานธนาคารชาติ แต่ก็ชัดเจนในทางปฏิบัติว่าเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองส่งมาเพื่อครอบงำและกำหนดทิศทางให้ธนาคารชาติต้องเดินตามแบบซ้ายหัน ขวาหัน หลังจากที่นาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยืนหยัดสู้ ไม่ยอมไหวเอนไปตามแรงบีบของรัฐบาลมาแล้วในหลายกรณี รวมถึงเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย

วีรพงษ์ อ้างถึง มาตรการกระตุ้นและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นว่า ได้สร้างความกังวลต่อปัญหาเงินร้อนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างร้อนแรง ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานในประเทศ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไม่เปลี่ยนแปลง แต่หุ้นปรับตัวขึ้นสูง สะท้อนว่าเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตอนนี้ประเทศต่างๆปล่อยสภาพคล่องท่วมโลก ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ 0.25% ยุโรป ญี่ปุ่นก็ต่ำ แต่ดอกเบี้ยเราสูงโต่ง 2.75% อยู่คนเดียว เป็นจุดหนึ่งที่เงินไหลเข้า

ขณะที่ ประสาร อธิบายว่า ธปท.มีข้อจำกัดสำหรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว และเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการค่าเงินเท่านั้น แต่การออกนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาในหลายด้านประกอบกัน โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาอย่างรอบคอบ

จะเห็นได้ว่าท่วงทำนองของ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชัดเจนว่าไม่โอนเอียงไปตามแรงกดดันทางการเมืองง่าย ๆ ซึ่งถือเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มี ประสาร เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติในยุคที่รัฐบาลมีวิธีคิดแบบเผด็จการทุน

คิดถึงแต่ประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าการมองเศรษฐกิจในภาพรวม และผลกระทบที่สร้างปัญหาใหม่ตามมา

หาก กนง. ลู่ลมไปตามแรงบีบของฝ่ายการเมืองโดยยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามความต้องการของวีรพงษ์ และ กิตติรัตน์ บนข้ออ้างแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และสกัดเงินทุนนอกไหลเข้านั้น ก็จะเกิดปัญหาอื่นตามมาที่อาจรุนแรง และแก้ไขได้ยากกว่า

คือ การใช้จ่ายของภาคประชาชนจะฟุ่มเฟือยขึ้น เพราะดอกเบี้ยต่ำก็จะไปกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของประชาชนให้สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่สภาพการปัจจุบันสถาบันการเงินเริ่มพบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเกิน 1 เดือนเพิ่มขึ้นในระดับที่น่ากังวล หลังจากที่สินเชื่อบริโภคของสถาบันการเงินพุ่งถึง 22.7% และสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 29 % ซึ่งทั้งหมดเกิดจากนโยบายประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลผ่านโครงการ รถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก
ดังนั้น ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำอีกก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้คนไทยก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความแข็งแกร่งของรากฐานทางเศรษฐกิจไทยตามไปด้วยจากการใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งไม่เพียงต่อส่งผลต่อคนที่ใช้จ่ายอย่างไม่ประหยัดเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย

ความคิดมิติเดียวของ วีรพงษ์ และ กิตติรัตน์ จึงเห็นชัดเจนว่า มุ่งไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าที่จะคิดแก้ปัญหาทุนนอกไหลเข้าอย่างเป็นระบบ แต่นำเอาประเด็นเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นข้ออ้างสับขาหลอกในการแทรกแซงเพื่อกดดันให้ กนง. ต้องลดอัตราดอกเบี้ยตามความต้องการของฝ่ายการเมืองมากกว่า

ความน่าเป็นห่วงของประเทศไทยในขณะนี้ เรากำลังมีรัฐบาลมือเติบคิดล้างผลาญมากกว่าการคิดหารายได้ สนับสนุนการสะสมหนี้ของภาคประชาชนมากกว่าการสอนให้คนไทยอดออม ลองคิดดูว่าถ้าบ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะที่รัฐบาลสร้างหนี้ ประชาชนกู้ไม่หยุด เศรษฐกิจของชาติย่อมอยู่ในภาวะเสี่ยงขาดความมั่นคงไปโดยปริยาย

ก็คงได้แต่ให้กำลังใจ ผู้ว่าแบงก์ชาติและบุคลากรในองค์กรนี้ที่ทุ่มเทรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ โดยไม่ยอมรับใช้การเมือง เพราะหาก ธปท.ไร้อิสระ ถูกแทรกแซงได้ เราคงรักษาความเป็นชาติได้ยากยิ่ง และไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยอาจตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ ซิมบับเว ที่ รมว.คลัง เทนได บิตี้ เพิ่งออกมายอมรับเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ซิมบับเว เหลือเงินติดบัญชีสาธารณะแค่ 217 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 6,500 บาท

ภายใต้การบริหารประเทศของ ประธานาธิบดีจอมเผด็จการ โรเบิร์ต มูกาเบ เพื่อนสนิทของ นลินี ทวีสิน อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้นโยบายประชานิยมมอมเมาประชาชนที่สนับสนุนตัวเอง จนถึงขั้นเลวร้ายที่สุด คือ ปั๊มเงินออกมาใช้จ่ายทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานขึ้นมากจนเกินกว่าจะรับมือได้

ในช่วงปลายยุคทศวรรษ 2000 ซิบบับเว เริ่มพิมพ์เงินออกมาในความพยายามปรับปรุงสถานะทางการเงิน แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานหลายร้อยเปอร์เซนต์ ทำสกุลเงินของพวกเขาไร้ค่า จนตอนนี้ต้องหันมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแทน

คนไทยอยากให้บ้านเมืองของเราซ้ำรอยซิมบับเวหรือเปล่า ?
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น