ประธาน ส.อ.ท.เข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่น 5 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่ผ่านมา นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยื่นข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงิน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า การเข้าพบดังกล่าวเพื่อยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท โดยเฉพาะมาตรการที่เอกชนได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา และคิดว่ารัฐบาลควรจะมีแนวทางในการดูแลเพิ่มเติม 5 มาตรการ
“ขณะนี้เอกชนมีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ซึ่งมาตรการที่จะเสนอเห็นว่าเป็นมาตรการแรง เช่น การลดดอกเบี้ยนโยบายทันที 1% ออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก หรือ Capital Control ใช้นโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เข้มข้นจากเดิมเน้นดูแลอัตราเงินเฟ้อ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่น่าห่วงกว่า” นายพยุงศักดิ์กล่าว
สำหรับการยื่นหนังสือของ ส.อ.ท.ต่อนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอมาตรการการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ที่ ส.อ.ท.ได้รวบรวมจากข้อเสนอของผู้ประกอบการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้รัฐบาลมีมาตรการที่เป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากวิกฤติดังกล่าวต่อไป
สำหรับข้อเสนอ 5 มาตรการของ ส.อ.ท.ต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1. เสนอให้มีการบริหารจัดการอัตราและเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤต 2. เปลี่ยนนโยบาย Inflation Targeting หรือเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นนโยบายดูแลผสมผสาน Exchange Rate ด้วย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 3. เร่งดำเนินการลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1
4. ใช้นโยบาย Capital ว่าจะต้องห้ามนำเงินลงทุนออกไปจากประเทศไทยเป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 3 เดือน และถ้าหากยังไม่สามารถบรรเทาความผันผวนของค่าเงินได้จึงค่อยๆปรับเพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นเป็น 6 เดือน และ 5. ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย
“4 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ค่าเงินบาทมีความหนักหนามากขึ้นและทำให้เกิดผลกระทบอีกทั้งขณะนี้ เราเห็นว่ามีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และเก็งกำไร ทำให้เกิดความกังวลวาจะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงผลกระทบกับการส่งออก นอกจากนี้ ทราบว่าทางยุโรปได้ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 33 จึงอยากให้รัฐบาลดูแลโดยผสมผสานทั้งเงินเฟ้อ เงินทุนไหลเข้า และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัญหาคงจะลุกลามถึงไตรมาส 3 และเสนอให้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ส่วนการออกพันธบัตรก็ต้องให้สอดคล้องและเหมาะสม ที่สำคัญ ขอให้นายกรัฐมนตรีบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อัตราค่าเงินบาทไปสู่จุดที่เหมาะสมขอให้นิ่ง รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันจะนำข้อเสนอของ ส.อ.ท. บอกกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเร่งติดตามและหามาตรการแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีต่อไป
“ต้องขอบคุณที่ภาคเอกชนที่ได้นำความห่วงใยมาสู่รัฐบาล ยืนยันว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะต้องทำเป็นภาพรวมคือมองทั้งนโยบายการเงินการคลังที่สัมพันธ์กัน สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำในเรื่องการลดต้นทุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเพื่อให้แข่งขันได้จะเห็นชัดว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบในการแข่งขัน ขณะเดียวอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนขณะที่เงินบาทเราแข็งค่าขึ้นทำให้กังวลถึงเงินที่ไหลเข้าประเทศ ยอมรับว่ามีความกังวลการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ หรือการลงทุนที่ไม่เกิดจากการกระตุ้นที่แท้จริงทำให้เกิดปัญหา” นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้จะนำข้อเสนอและข้อกังวลใจของภาคเอกชนทั้งหมดไปสื่อสารกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลังและ ธปท.โดยคณะกรรมการบริหารการเงิน รวมถึงกระทรวงการคลัง สำหรับนโยบายการคลังที่ได้สั่งการไปนั้นมีหลายส่วนที่จะดูแลใช้เงินบาทในการลงทุนให้มากที่สุด แม้แต่โครงการ 2 ล้านล้าน หรือโครงการอื่นที่รัฐบาลจะลงทุน จะเน้นใช้เงินในประเทศให้มากที่สุด ตนยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการประสานงานกับทุกส่วนและเร่งติดตามหามาตรการในการแก้ไขผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอี และจากหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจะนัดหารือกับทาง ส.อ.ท.อีกครั้ง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *