“คมนาคม” สั่ง กทพ.ศึกษาทางด่วนขั้นที่ 3 แนวใหม่ หลัง ม.เกษตรฯ ต่อต้านหนัก เบี่ยงออกนอกเขต กทม.ไปตามแนวถนนรังสิตนครนายก คงหลักแนวคิดเชื่อมวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก ผ่าน อ.ธัญบุรี จ.ปุทมธานี เพราะยังมีความสำคัญในการคมนาคมขนส่ง
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องการศีกษาทบทวนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N1 N2 N3 (บางใหญ่-เกษตร-มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 42.9 กิโลเมตร ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาปรับเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light rail) ทดแทน หลังจากโครงการทางด่วนขั้นที่3 ถูกคัดค้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ.ไปศึกษาแนวเส้นทางการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 แนวใหม่ จากเดิมที่มีแนวก่อสร้างจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก บริเวณต่างระดับบางใหญ่ ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านแยกแคราย ถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกเกษตร ถนนเกษตร-นวมินทร์ ถึงถนนนวมินทร์ตัดถนนแนวใหม่ ผ่านถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ถนนกรุงเทพ-ชลบุรี (มอเตอร์เวย์) โดยแนวใหม่ที่จะศึกษา จะขยับออกนอกเมืองไปทางอำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี จังหวัดปุทมธานี ตามแนวถนนรังสิต-นครนายก โดยยังยึดแนวเส้นทางเชื่อมการเดินทางด้านตะวันออกตะวันตกเอาไว้ เพราะยังมีความสำคัญในการคมนาคมขนส่ง
แนวเส้นทางเบื้องต้นจะเริ่มต้นจากวงแหวนตะวันตกบริเวณบางบัวทอง ตัดผ่านมาตามแนวถนน 345 ผ่านฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ไปสิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกตะวันออก ยอมรับแนวเส้นทางนี้อาจทับซ้อนโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) ที่เคยมีโครงการขยายถนนรังสิต-นครนายก ด้วยการทำสะพานยกระดับ แต่โครงการดังกล่าวชะลอไปแล้ว ซึ่งหาก กทพ.จะยึดตามแนวเส้นทางนี้ในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ก็สามารถหารือกับ ทล.ได้ ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวสายทางใหม่จะตัดผ่านพื้นที่นอกเมือง ซึ่งยังมีการจราจรเบาบาง แต่พื้นที่ดังกล่าวกำลังมีการพัฒนา เชื่อว่าจะมีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนได้
สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N1 N2 N3 ได้รับการคัดค้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่ต้องการให้ตอม่อทางด่วนเข้าในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจาก สนข.ได้ศึกษาทบทวนเบื้องต้นสรุปว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการก่อสร้างจากทางด่วนเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้ามีความเหมาะสมกว่า และได้ส่งผลสรุปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว