xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ปรับรถไฟฟ้าสีส้มใหม่ เริ่มต้นตลิ่งชัน-ยืดปลายทางถึงสุวินทวงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด รฟม.เห็นชอบปรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขยายปลายทางจากมีนบุรีไปถึงสุวินทวงศ์ อีก 2 กม.และยืดจุดเริ่มต้นกลับไปอยู่ที่ตลิ่งชันเหมือนเดิมตามแผนแม่บท ยันไม่กระทบทำแผนก่อสร้างล่าช้า แค่ศึกษา EIA เพิ่มเฟสแรก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) เปิดประมูลปลายปีนี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.ที่มี น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 เมษายนได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) ในส่วนปลายทางจากเดิมมีนบุรีไปสิ้นสุดที่สุวินทวงศ์ระยะทางเพิ่มอีก1 สถานี ระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) และปรับจุดเริ่มต้นโครงการที่สถานีตลิ่งชันตามแผนแม่บทเดิมจากก่อนหน้านี้ ที่ รฟม.มีการปรับลดจุดเริ่มต้นโครงการเป็นสถานีบางขุนนท์ เพื่อไม่ให้การเดินรถทับซ้อนกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องจัดเดินรถ 1 ขบวนมาที่สถานีตลิ่งชัน แต่พบว่าควรให้ใช้เส้นทางสายสีส้มให้บริการผู้โดยสารดีกว่า โดยมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในส่วนที่ขยายเพิ่ม ซึ่งในภาพรวมการต่อขยายจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการจะไม่ทำให้โครงการล้าช้า โดยช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีมีความพร้อมแล้ว จะก่อสร้างเป็นเฟสแรกส่วนที่จะต่อไปจนถึงสุวินทวงศ์จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนมิถุนายนนี้ และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนกรกฎาคม 2556 เปิดประกวดราคาช่วงปลายปีนี้ วงเงินประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินลงทุนงานโยธาและเวนคืนที่ดินจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนงานระบบและตัวรถอาจใช้รูปแบบการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP)

“เบื้องต้นคาดว่ากรอบวงเงินจะไม่เพิ่มแม้จะขยายไปอีก 1 สถานีเพราะก่อนหน้านี้มีการปรับแนวเส้นทางจากศูนย์วัฒนฯ-เหม่งจ๋าย-วัดเทพลีลา-ถนนรามคำแหง ซึ่งมีชุมชนหนาแน่น เปลี่ยนไปวิ่งตามแนวถนนพระราม 9 และเข้าถนนรามคำแหงซึ่งทำให้ค่าเวนคืนลดลง ก็จะเกลี่ยวงเงินในภาพรวมได้” นายจุฬากล่าว

ส่วนการก่อสร้างสายสีส้มเฟส 2 (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ซึ่งเป็นแนวเส้นทางด้านตะวันตกยังมีปัญหาเรื่องการเวนคืนมาก โดยเฉพาะบริเวณถนนประชาสงเคราะห์ ซึ่งต้องก่อสร้าง 3 สถานี คือ สถานีดินแดง สถานีประชาสงเคราะห์ และสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่ต้องเวนคืนสูงถึง 210 แปลง 189 ราย และถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน ซึ่งบอร์ดได้มีการหารือกันและเห็นว่า รฟม.และที่ปรึกษาโครงการต้องเร่งแก้ปัญหา

โดยเบื้องต้นมี 3 ทางเลือก คือ 1. พยายามปรับแบบก่อสร้างลดพื้นที่เวนคืนให้น้อยที่สุด 2. เปลี่ยนแนวเส้นทางมาจากสามเหลี่ยมดินแดงมายังแยกประชาสงเคราะห์- แยกพระราม 9 แต่พบว่าหากปรับมายังแนวเส้นทางดังกล่าวก็จะต้องเวนคืนมากอยู่ดี เพราะต้องเปิดพื้นที่เพื่อนำหัวเจาะลงไปสร้างอุโมงค์ ขณะถนนพระราม 9 มีคอนโดมีเนียมอยู่หนาแน่น ดังนั้นอาจจะต้องหาทางเลือกที่ 3 และ4 เพิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น