BMCL ยอมถอยลดค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) อีก 3 พันล้านจาก 8.3 หมื่นล้าน กรรมการมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ส่งผลเจรจาให้ สนข.วิเคราะห์ก่อนสรุปเสนอ “คมนาคม” ได้ใน 1-2 วันนี้ “ชัชชาติ” พร้อมเสนอ ครม.รอ สนข.สรุปเท่านั้น ยึดผลของกรรมการมาตรา 13 เป็นหลัก เชื่อราคามีเหตุผลชี้แจงได้ ด้าน สนข.เร่งสรุปดันประมูลรถไฟฟ้า 3 สายให้ได้ในปีนี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญา 4 (สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) ในรูปแบบการร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost Concession (GC) กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ที่มีนายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธาน ได้ส่งผลการเจรจามายัง สนข.แล้ว โดยสรุปว่าทางBMCL ยินยอมลดค่าจ้างลงอีกประมาณ 3,000 ล้านบาทจากราคาล่าสุดที่ 83,310 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ สนข.จะสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
“ถือว่าราคาที่สรุปมานี้เป็นราคาสุดท้ายแล้วและคงไม่ต้องมีการต่อรองเพิ่มอีกเนื่องจากคณะกรรมการตามมาตรา 13ฯ ระบุว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและได้ส่งเรื่องมายัง สนข.แล้ว เราก็จะตรวจดูรายละเอียดเพื่อความเรียบร้อย และภายใน 1-2 วันนี้คงส่งมาถึงกระทรวงคมนาคมได้” นายจุฬากล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลการเจรจาต่อรองต้องรอ สนข.ตรวจสอบรายละเอียดก่อน ถ้าเสนอที่กระทรวงก็มีหน้าที่เสนอมให้ ครม. ซึ่งจะพิจารณาโดยยึดความเห็นและเหตุผลของกรรมการตามมาตรา 13ฯ เป็นหลักว่ามีเหตุผลอย่างไรกับราคาที่เสนอมา
ดันประมูลรถไฟฟ้า 3 สายให้ได้ปีนี้
นายจุฬากล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มีแผนประกวดราคาภายในปีนี้จำนวน 3 สาย คือ สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) และสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) นั้น ขณะนี้ สนข.กำลังเร่งพิจารณาความเรียบร้อยตามคำสั่งของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม โดยสายสีเขียว และสีชมพู สนข.ได้ประสานไปยัง รฟม.ให้ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมในประเด็นค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยสายสีเขียวเพิ่มจากเดิม 10,000 ล้านบาทมาอยู่ที่ 58,000 ล้านบาท ส่วนสายสีชมพูเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 58,642 ล้านบาท และยังมีประเด็นการปรับสถานีปลายทางของสายสีชมพูด้วยว่าจะสิ้นสุดที่ตลาดมีนบุรีตามแผนแม่บทเดิมหรือเบี่ยงไปที่สุวินทวงศ์ตามที่ ส.ส.และประชาชนในพื้นที่เรียกร้องมา ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดที่มีนายวิชาญ มีนชัยนันท์ จะให้ความเห็นมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปสายสีเขียวเสนอกระทรวงคมนาคมและเสนอ ครม.ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ซึ่งล่าช้ากว่าแผนแล้วประมาณ 1 ปี ส่วนสายสีชมพูจะเสนอคมนาคมได้ประมาณเดือนพฤษภาคม แต่ยังมั่นใจว่าทั้งสองสายจะเปิดให้บริการได้ตามแผนเดิมคือปี 2560-2561 เพราะในช่วงก่อสร้างยังสามารถเร่งรัดได้
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นยอมรับว่าคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะยังมีการปรับแนวเส้นทางเช่น ปรับแนวเส้นทางจากถนนเทียมร่วมมิตรมาเป็นพระรามที่ 9 ซึ่งเป็นแนวใหม่เพื่อเลี่ยงชุมชน รวมถึงปัญหาการประท้วงของชาวบ้านที่บริเวณราชปรารภและประชาสงเคราะห์ที่ตัดผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่ง รฟม.ต้องเจรจากับประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในจุดที่มีการปรับแนวเส้นทางใหม่