xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ดันประมูลรถไฟฟ้าสีส้มปีนี้ จ่อเวนคืนเพิ่มเหตุปรับพื้นที่ขึ้นลงสถานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รฟม.จ่อเวนคืนสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) เพิ่ม เหตุปรับแบบทางขึ้น-ลงสถานีจัดที่จอดรับส่งเพื่อไม่ให้กระทบผิวจราจร และเพิ่มที่จอดรถสถานีย่านชานเมือง ทำประชาพิจารณ์สีส้มครั้งสุดท้ายก่อนสรุปเสนอบอร์ด และ ครม.ไฟเขียวประมูลเฟสแรก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) ก่อนภายในปี 56 เผยชุมชนดินแดงโดนกว่า 300 ราย เหตุแนวเส้นทางช่วงสถานีดินแดง-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ผ่าน  

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า  ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการต่อประชาชนที่อยู่ตามแนวเส้นทาง ซึ่งถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม โดยหลังจากนี้
จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบขั้นสุดท้ายเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานพิจารณา ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาสรุปประมาณ 3 เดือน

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี) ระยะทาง 35.4 กม.มูลค่าก่อสร้างรวม 1.7 แสนล้านบาท ตามแผนจะเปิดประกวดราคาก่อนสร้างเฟส 1 ช่วง (สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ- สุวินทวงศ์) ก่อนภายในปี 2556 เนื่องจากมีความพร้อมและทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว วงเงินก่อสร้างประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท และจะเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2561 ส่วนเฟส 2 (ช่วงสถานีบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) อยู่ระหว่างศึกษา EIA จะเปิดประกวดราคาในปี 2557 และเปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2562 และเนื่องจากเส้นทางมีทั้งโครงสร้างใต้ดินและทางยกระดับ

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีการปรับเพิ่มพื้นที่ก่อสร้างบริเวณทางขึ้น-ลงสถานี เพราะเห็นว่ารถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลที่วิ่งบริการปัจจุบันมีทางขึ้น-ลงที่คับแคบ ไม่สะดวกสำหรับผู้พิการ และไม่มีพื้นที่สำหรับรถสาธารณะและรถส่วนตัวที่จะเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารได้ ทำให้กีดขวางการจราจร

โดยจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณสถานีเพิ่ม จากเดิมจะใช้พื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร เป็น 200-300 ตารางเมตร คาดว่าอาจต้องเพิ่มค่าเวนคืนอีกประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดอยู่ที่ 10% ของวงเงินค่าก่อสร้าง หรือ 17,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รฟม.จะเพิ่มการก่อสร้างอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ในสถานีเขตชานเมือง ตั้งแต่สถานีลำสาลีไปจนถึงสถานีสุดท้ายคือสุวินทวงศ์อีก 2-3 จุด ซึ่งจะรองรับรถได้แห่งละหลายร้อยคัน ขณะที่ตามแผนตลอดทั้งสายจะมีอาคารจอดแล้วจร 1 จุด คือที่สถานีคลองบ้านม้า (อยู่ระหว่างซอยรามคำแหง 92-94)

โดยในขณะนี้จะต้องสำรวจพื้นที่และการเวนคืนเพิ่มเติมโดยเฉพาะบริเวณทางขึ้นลงสถานี ซึ่งเบื้องต้นการศึกษาตลอดโครงการคาดว่าต้องเวนคืนหลายพันหลังคาเรือน วงเงินประมาณ 7,051 ล้านบาท เฉพาะช่วงดินแดง-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะถูกเวนคืนมากที่สุดกว่า 300 ราย เพราะแนวรถไฟฟ้าตัดผ่านเข้าไปในชุมชน  

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี มีวงเงิน 178,000 ล้านบาท ระยะทางรวม 35.4 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 26.2 กิโลเมตร และโครงสร้างแบบยกระดับ 9.2 กิโลเมตร มีสถานีรวม 29 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 22 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในปี 2562 จะมีผู้โดยสาร 595,750 คนต่อเที่ยวต่อวัน และปี 2602 ผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 1,548,500 คนต่อเที่ยวต่อวัน

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีบางขุนนนท์ วิ่งไปตามแนวเขตรถไฟบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวงผ่านยมราชเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีเลี้ยวเข้าถนนราชปรารภถึงดินแดง แล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เลี้ยวขวาไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้วเบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหงผ่านแยกลำสาลีตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์เขตมีนบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น