xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ต่อรองค่าจ้างเดินรถสีม่วงไม่เข้าเป้า เงื่อนเวลาบีบเร่งสรุปชง ครม.ตัดสินใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟม.หืดจับ BMCL ยืนกระต่ายขาเดียวค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสีม่วง แย้มลดเพิ่มจาก 700 ลบ.ได้อีกนิดหน่อยแต่ไม่ถึง 1,100 ลบ.ตามเป้าแน่นอน เร่งสรุปเสนอคมนาคมชง ครม.พิจารณา “ผู้ว่าฯ รฟม.” ยอมรับจ้างเอกชนเดินรถช่วยลดหนี้สาธารณะแค่ชั่วคราว สุดท้ายจ่ายจริงแพงกว่าเดิม เหตุเอกชนมีต้นทุนสูงกว่า

นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญา 4 (สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาผลการต่อรองกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอทาง BMCL ยืนยันตัวเลขค่าจ้างมาอีกครั้งภายในวันที่ 5 หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะเร่งสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอกระทรวงคมนาคมก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งครบกำหนด 30 วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มาเจรจาต่อรองกับ BMCL

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ล่าสุดทาง BMCL ยอมลดราคาลงมากกว่า 700 ล้านบาทจากที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ยอมลดตามที่คณะกรรมการฯ ต่อรองไว้ที่ 1,100 ล้านบาท โดยวงเงินล่าสุดอยู่ที่ 85,291.50 ล้านบาท จาก 85,991.50 ล้านบาท (รวม VAT 7%) ซึ่งต้องขึ้นกับที่ประชุม ครม.ว่าจะเห็นด้วยกับราคาที่สรุปไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเจรจาเรื่องเงื่อนไขเพิ่มเติมที่อยู่นอกเหนือ TOR เพื่อต่อรองให้ BMCL ลดราคาให้อย่างแน่นอน รวมถึงไม่มีเรื่องการสนับสนุนให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ช่วยอุดหนุน BMCL ด้วย

ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มีความคืบหน้ารวม 54.29% โดยมีกำหนดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2558 และต้องยอมรับว่าการร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost Concession (GC) คือรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า ทำหน้าที่เดินรถ แล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่ ซึ่ง รฟม.กำลังเจรจาว่าจ้าง BMCL เดินรถสีม่วงบางใหญ่ -บางซื่อ อยู่ในขณะนี้ไม่ได้ช่วยรัฐลดภาระการลงทุนหรือต้นทุนอย่างแท้จริง แต่ช่วยเพียงลดหนี้สาธารณะชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน และการประมูลคัดเลือกเอกชน ทำให้เกิดความเสี่ยงโครงการล่าช้า เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลที่ล่าช้า 13 เดือน ขณะสายสีม่วงล่าช้า 10 เดือน และการประมูลเป็นรายสายทางทำให้ต้องแยกเส้นทาง ระบบรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง ทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง อีกทั้ง PPP-Gross Cost มีแนวโน้มต้องจ่ายค่าจ้างสูงเกินจริง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินของเอกชนสูงกว่า อัตรากำไรสูงกว่า เป็นการซื้อผ่านคนกลาง (ผู้รับสัมปทาน) ที่ต้องจ่ายค่าดำเนินการ การประมูลไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน และธุรกิจรถไฟฟ้าไม่ทำกำไรทำให้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เอกชน

สำหรับสัญญาที่ 4 สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 วงเงินรวม 20,775 ล้านบาท คืองานออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ การทำงานของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทดลองเดินรถไฟฟ้าให้มีความพร้อมบริการแก่สาธารณชนจนสามารถเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ โดยมีระยะเวลารวมไม่เกิน 1,200 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาสัมปทาน โดย รฟม.จะทยอยชำระค่างานระยะที่ 1 เป็นรายเดือนให้แก่ BMCL เป็นเวลา 10 ปี หลังจาก BMCL ส่งมอบกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์งานระบบให้แก่ รฟม.และเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้า

ระยะที่ 2 วงเงิน 59,590 ล้านบาท (ไม่รวมภาษี) คืองานให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าจนสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาสัมปทาน โดย รฟม.จะชำระค่าบริการให้แก่ BMCL เป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนที่เริ่มการให้บริการเดินรถไฟฟ้าจนสิ้นสุดอายุสัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น