“ชัชชาติ” ยันค่าจ้าง BMCL เดินรถไฟฟ้าสีม่วงยังลดได้อีก สั่ง รฟม.ทำตัวเลขเตรียมพร้อมชี้แจง ครม. ทั้งราคารถ ค่าบริหารจัดการ พร้อมเร่งหาข้อสรุปเพิ่มแนวสายสีชมพูเข้าเมืองทอง และเปลี่ยนแนวไปสุวินทวงศ์แทนมีนบุรี ส่วนสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตจะทำรวดเดียวหรือแบ่งเฟส ยันต้นปี 56 ประกวดราคา 2 สายนี้แน่นอน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 4 การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา บำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 13 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ได้เสนอผลการเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ในการว่าจ้างให้เดินรถรูปแบบ PPP Gross Cost แล้ว โดยเห็นว่าราคาที่สรุปนั้นยังมีช่องว่างที่สามารถต่อรองให้ลดลงได้อีก
ดังนั้นจึงสั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาตัวเลขในภาพรวมที่เหมาะสมอีกครั้ง เช่น ราคารถ โดยเปรียบเทียบกับราคารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ให้บริการอยู่ ค่าบริหารจัดการต่อกิโลเมตรต่อคันเพื่อเตรียมพร้อมกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สอบถามเพิ่มเติม โดยจะสรุปข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเรื่องไป ครม.ในสัปดาห์หน้า
ส่วนการที่ รฟม.จะขอเป็นผู้เดินรถเองเพราะค่าดำเนินการจะถูกกว่าจ้างเอกชนนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมติ ครม.เห็นชอบให้ใช้รูปแบบ PPP Gross Cost1 (รูปแบบรัฐจะเก็บค่าโดยสารเอง และจ้างเอกชนมาเดินรถและซ่อมบำรุง) ซึ่ง BMCL เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การจะปรับเปลี่ยนอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับ ครม. รวมถึงการพิจารณาผลการเจรจาต่อรองราคาของคณะกรรมการมาตรการ 13 กับ BMCL โดยปรับลดราคาลงจาก 93,475 ล้านบาท เหลือ 85,990 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี เป็นอำนาจของ ครม.ว่าจะเห็นด้วยหรือให้มาเจรจาใหม่ แต่ รฟม.เองควรมีตัวเลขที่เหมาะสมไว้ด้วยโดยยึดประโยชน์สูงสุดเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบหาก ครม.สอบถาม
“ตัวเลข และข้อมูลที่ให้ รฟม.เตรียมไว้จะไม่เสนอไปให้ ครม.ด้วย แต่จะเป็นการเตรียมเผื่อไว้ หาก ครม.สอบถามจะสามารถชี้แจงได้ทันที”นายชัชชาติกล่าว
ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงมีนบุรี-แครายนั้นจะเปิดประกวดราคาได้ในปี 2556 แน่นอน โดยให้ดำเนินการตามแผนเดิม ส่วนกรณีที่บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND เสนอให้ปรับเส้นทางเข้าสู่เมืองทองธานีนั้น ให้ รฟม.พิจารณาคู่ขนานไป โดยเฉพาะใครได้ประโยชน์หากต้องเพิ่มเติมอนาคตก็ทำได้ ส่วนฝั่งมีนบุรีที่มี ส.ส.ในพื้นที่เสนอให้ก่อสร้างสายทางไปถนนสุวินทวงศ์ ให้ รฟม.พิจารณาข้อดีข้อเสีย ทั้งจำนวนผู้โดยสาร การลงทุนที่เพิ่ม ระยะเวลาที่เพิ่ม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากต้องเปลี่ยนแนวต้องรีบสรุปว่าจะเอาอย่างไร ถ้าแยกไปทางถนนสุวินทวงศ์จะยกเลิกแนวที่ไปตลาดมีนบุรีหรือไม่ ต้องมีข้อมูลรองรับเป็นเรื่องเทคนิคไม่ใช่การเมืองชี้นำ รวมถึงรูปแบบก่อสร้างที่เป็น Design & Built ต้องดูให้รอบคอบ
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้ รฟม.พิจารณาว่าจะดำเนินการทีเดียวทั้งเส้นทาง หรือแบ่งเป็นเฟส และให้ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ด้วย เพราะเป็นเส้นทางเร่งด่วนที่จะเปิดประกวดราคาช่วงต้นปี 2556 เช่นกัน