รฟม.เร่งตั้งบริษัทลูกร่วมทุนการเคหะฯ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งที่อยู่อาศัย-ศูนย์การค้า คาด 3 เดือนศึกษารูปแบบเสร็จพร้อมชงครม.เห็นชอบ นำร่องพัฒนาที่ศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า 3 สาย สีเขียว-สีชมพู-สีม่วง คาดผลตอบแทนเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้าน แถมสร้างผู้โดยสารเพิ่มอีกกว่าแสนคน “ชัชชาติ” หนุนเต็มที่ ชี้ต้องหารายได้อื่นมาชดเชยค่าโดยสาร พร้อมสั่งจี้ปรับปรุงระบบเชื่อมโยงเข้าสู่รถไฟฟ้าใหม่ “ยงสิทธิ์” เสนอนอตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติเคลียร์ปัญหากับหน่วยงานอื่นที่ทำให้โครงการล่าช้าและมีต้นทุนเพิ่ม
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการร่วมพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน” โดยเปิดเผยว่า นโยบายหลักนอกจากเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายให้เป็นไปตามแผนแล้วจะต้องปรับปรุงการเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ให้ดีขึ้น ทั้งเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน และเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และระหว่างการออกแบบ รวมถึงปรับปรุงระบบฟีดเดอร์เช่น รถเมล์ ขสมก.ให้มีประสิทธิภาพ เพราะถ้าประชาชนไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกก็จะไม่มีผู้โดยสาร
ทั้งนี้ เห็นด้วยกับแนวคิดของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จะร่วมมือกับหน่วยงานราชการอื่น เช่น การเคหะแห่งชาติ หรือภาคเอกชนแบบ PPP ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้มาเสริมรายได้จากค่าโดยสาร โดยจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ด้านบนมาใช้ประโยชน์ หลังจากพื้นที่ด้านล่างได้ทำเป็นสถานีหรือศูนย์ซ่อมบำรุงไปอย่างเต็มที่แล้ว เช่นทำเป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อมีรายได้เพิ่มจะทำให้ต้นทุนลดลงได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไปตลอด
“ถ้าต้องการให้คนมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากๆ จะไปเก็บค่าโดยสารแพงไม่ได้ แนวคิดคือต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไป เพื่อมีรายได้บางส่วนมาเสริมและสร้างผู้โดยสารป้อนรถไฟฟ้าได้อีกทาง ซึ่ง รฟม.มีแนวคิดพัฒนา 3 เส้นทางก่อน เช่น สีเขียวที่บางปู มีพื้นที่เป็นของราชการสามารถพัฒนาได้ หรือสายสีชมพู และสีม่วงจะพัฒนาที่ศูนย์ซ่อมบำรุง ถือเป็นอนาคตที่ดีและต้องสนับสนุน และสามารถดำเนินการได้ ไม่ผิดกฎหมายและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินของ รฟม.เพราะเป็นการนำพื้นที่ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ในการเดินรถมาพัฒนา ด้านบนอยู่ในอากาศก็นำมาพัฒนาโดยเตรียมฐานรากไว้เผื่อ ซึ่งเรื่องนี้กฤษฎีกาตีความแล้วว่าทำได้ และเป็นความร่วมมือกับการเคหะฯ เป็นรัฐต่อรัฐ กำไรก็กลับสู่รัฐ” นายชัชชาติกล่าว
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาแผนธุรกิจ ประมาณการกำไร-ขาดทุน โครงการทางการเงินในการจัดตั้งบริษัทลูก ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่าง รฟม.กับการเคหะฯ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้า สำนักงาน โดยจะสรุปผลศึกษาภายใน 3 เดือน หรือภายในไตรมาสนี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป คาดว่าจะจัดตั้งได้ภายในปีนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล โดยจะนำร่องพัฒนาเร่งด่วนรถไฟฟ้า 3 โครงการพร้อมกัน คือ สายสีเขียวอ่อน (แบริ่ง-สมุทรปราการ) บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงที่บางปิ้ง มีผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 2,000 สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ มูลค่าผลตอบแทนเกือบ 20,000 ล้านบาท และสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงบางส่วนพื้นที่ 12 ไร่ สร้างอาคาร 3 หลัง ผลตอบแทนประมาณ 1,000 ล้านบาท รวม 3 แห่ง ผลตอบแทนเกือบ 30,000 ล้านบาท และสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าได้เกือบ 100,000 คนจากผู้อาศัยในโครงการที่พัฒนาขึ้น
“ทุนเบื้องต้นคาดว่าจะหลายร้อยล้านบาทแต่ยังไม่ชัดเจนต้องรอการศึกษาสรุปก่อนรวมถึงสัดส่วนหุ้นระหว่าง รฟม.กับ การเคหะฯ แต่คาดว่า รฟม.น่าจะถือมากกว่า โดยบริษัทลูกจะเช่าที่รฟม.เพื่อพัฒนา ส่วนค่าเช่าจะแปลงเป็นหุ้นที่จะร่วมทุนกัน หลักการระดมทุน เป็นหน้าที่ของบริษัทลูก ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น ออกเป็นกองทุน REIT : Real Estate Investment Trust (จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ) และยังแนวคิดว่าเมื่อตั้งบริษัทลูก แล้วจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนเลยก็ได้ ตอนนี้รูปแบบของ REIT น่าจะเหมาะสม
สำหรับการศึกษาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บททั้งระบบ 10 สาย เปิดให้บริการ จัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 4.6 ล้านคนต่อวัน มีรายได้ 60ล้านบาทต่อวัน แต่หากเก็บค่าโดยสารตามระยะทางปกติ จะมีผู้โดยสารประมาณ 3.7 ล้านคนต่อวัน แต่จะมีรายได้ประมาณ 108 ล้านบาทต่อวัน เท่ากับค่าโดยสาร 20 บาท ทำให้รายได้ลดลง 20 ล้านบาทต่อวัน หรือหายไป 50% ซึ่งทำให้นั้นรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเอกชนที่รับสัมปทานทั้งบีทีเอส และ บีเอ็มซีแอล ที่เข้าร่วมโครงกา ดังนั้น รฟม.จึงต้องหารายได้อื่นมาชดเชยด้วย
ส่วนรถไฟฟ้าที่จะนำมาให้บริการทั้ง 10 สายจะมีทั้งสิ้น 816 คัน แบ่งเป็นขบวนรถไฟฟ้าขนาดหนัก (Heavy Rail) 521 คัน รถไฟฟ้ามวลเบา(Monorail) 295 คัน แต่หากใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย จะต้องเพิ่มขบวนรถมากขึ้นอีกเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
นายยงสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) มีความคืบหน้า 54.29% สายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) คืบหน้า 29.21% สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) คืบหน้า 5.54% ส่วนสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประกวดราคา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนงานนั้นจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ที่ส่งผลให้โครงการล่าช้าและมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และต้องปรับแบบ โดยต้องยอมรับว่ามีปัญหาอุปสรรคในเรื่องการใช้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น ไฟฟ้า ประปา กทม. การพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เช่น รถไฟฟ้าต้องยกระดับให้สูงถึง 24 เมตร เพื่อเลี่ยงสะพานข้ามแยก หรืออุโมงค์ของ กทม. ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 30-40% จึงอยากเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติขึ้น เช่น คณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (กรร.) คล้ายกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยให้มีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งพิจารณาลำดับความสำคัญของโครงการที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อโครงการรถไฟฟ้า