การเคหะแห่งชาติ ปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ เร่งพัฒนางานด้านบริการ จ่อผุดที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า 10 สาย ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผยแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผนึกชุมชนร่วมรณรงค์ “ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด” ปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน (Eco-village) ล่าสุด จับมือกับ PRCUD องค์กรพัฒนาที่อยู่อาศัยจากสหรัฐอเมริกา จัดเสวนาวิชาการนานาชาติ ดึง 15 ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ร่วมถกประเด็น “กระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองของประเทศไทย” 11-13 มีนาคมนี้
นางอำภา รุ่งปิติ รองผู้ว่าการ รักษาการแทนผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.เป็นกลไกรัฐในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการดูแลตนเองได้ ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา กคช.ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยรวมทั้งสิ้น 697,817 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 264,76 หน่วย โครงการเคหะชุมชน 141,522 หน่วย โครงการปรับปรุงชุมชนแออัด 233,964 หน่วย โครงการแก้ไขอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย โครงการพิเศษและบริการชุมชน 3,980 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,107 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ 2,374 หน่วย
ทั้งนี้ ในโอกาสที่การเคหะแห่งชาติครบรอบการก่อตั้ง 40 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ดำเนินการปรับองค์กรครั้งใหญ่ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น ด้วยการรณรงค์การใช้ Theme สีฟ้าทั้งองค์กร พร้อมทั้งพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญกับงานด้านบริการ (service) เน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก รวมทั้งปรับปรุงด้านกายภาพภายในสำนักงานใหญ่ และสำนักงานเคหะชุมชนให้มีความทันสมัยภายใต้โทนสีฟ้าทั่วประเทศ
สำหรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแหล่งงานบริเวณพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามเส้นทางรถไฟฟ้ารองรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติตามเส้นทางรถไฟฟ้า 10 สาย ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้น มีโครงการนำร่อง 3 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่จุดจอดแล้วจร (Park & Ride) สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ และโรงจอด-ซ่อมบำรุงบางไผ่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่จุดจอดแล้วจร สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และการพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่จุดจอดแล้วจรสายสีเขียว ลำลูกกา-สมุทรปราการ
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การเคหะแห่งชาติร่วมกับ Pacific Rim Council on Urban Development (PRCUD) เป็นองค์กรการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการพัฒนาเมืองของสหรัฐอเมริกา เตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติและนิทรรศการครั้งใหญ่ “กระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองของประเทศไทย” ขึ้นในวันที่ 11-13 มีนาคม 2556 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อระดมความคิดเห็น และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยจากทั่วโลก ประมาณ 15 ชาติ ร่วมถกประเด็นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองของประเทศ ผู้สนใจเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ http://dhds.nha.co.th/nha40
นางอำภา รุ่งปิติ ยังได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนว่า การเคหะแห่งชาติได้จัดทำ “โครงการชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด” สอดคล้องกับนโยบายรัฐ “พลังแผ่นดินขจัดสิ้นยาเสพติด” มุ่งเน้นการรณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวชุมชนกว่า 2,000,000 คน กว่า 400 ชุมชน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาสาเฝ้าระวังยาเสพติดในทุกพื้นที่ จัดตั้งกลุ่มตำรวจบ้าน จัดกิจกรรมให้เยาวชนได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ โดยใช้องค์กรชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น
ส่วนการพัฒนาพื้นที่สีเขียว การเคหะแห่งชาติมุ่งที่จะสร้างและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งปัจจุบัน และในอนาคตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ “โครงการชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน (Eco-village)” โดยที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติเน้นจัดกิจกรรมให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งร่วมเสนอไอเดียสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้ มีองค์กรชุมชน มีแกนนำทำงานในทุกพื้นที่มาช่วยกันพิจารณาเรื่องสภาพแวดล้อมของชุมชน ทั้งในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย และการรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อพัฒนาทุกชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ตามนโยบาย Eco-Village ต่อไป
นอกจากนี้ กคช. ยังมุ่งพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับ AEC หรือ Asean Economics Community การเปิดเสรีทางการค้าในปี 2558 อีกด้วย เชื่อว่าผลที่จะได้รับกับวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมากพอสมควร และการเคหะแห่งชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น คาดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีกล่าวคือ มีเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล และเตรียมพร้อมจะพัฒนาโครงการใหม่ๆ ต่อไป
“อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติยังได้ตอบสนองนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการจัดทำโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติกับกระทรวงฯ ช่วยกันพิจารณาเรื่องพื้นที่ และงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบที่อยู่อาศัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว” นางอำภา รุ่งปิติ กล่าวทิ้งท้าย