“วิบูลย์” ห่วงช่วงเทศกาลตรุษจีน มีการจุดพลุ เผากระดาษ เสี่ยงไฟไหม้ ปชช.เดินทางเที่ยวหวั่นอุบัติเหตุ สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเฝ้าระวัง เน้นท้องถิ่นร่วมมือตามแผน เพิ่มมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะอัคคีภัยจากพลุ ประทัด และคุมเข้มสถานที่รวมตัว ปชช. สั่งท้องที่รับมือ 24 ชม.เพื่อการลำเลียงผู้บาดเจ็บให้รวดเร็ว
วันนี้ (21 ม.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ตามประเพณีปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งจะมีการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ โดยการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง ตลอดจนการจุดประทัดตามศาลเจ้า อาคารย่านธุรกิจ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และในบางพื้นที่อาจมีการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลดังกล่าว โดยการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิงเป็นจำนวนมาก หากขาดการกำกับควบคุมที่ดี อาจส่งผลให้เกิดอัคคีภัย ตลอดจนอุบัติเหตุขนาดใหญ่ได้ ประกอบกับในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมักจะมีการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเน้นย้ำเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย และการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรที่อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ทุกแห่ง พร้อมทั้งหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคเอกชน สำรวจ ตรวจสอบและจัดทำแผนเผชิญเหตุด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในสถานประกอบการ สถานบริการ พื้นที่ในชุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย โดยเน้นการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย ร่วมกับหน่วยงานอาสาสมัครและประชาชนในแต่ละชุมชน เพื่อความพร้อมเผชิญกับเหตุฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า 2. ให้กำชับเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เพิ่มมาตรการในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในช่วงเทศกาลดังกล่าว โดยส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติตนแก่ประชาชนในการป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้น รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกประเภทให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษในการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง ตลอดจนการจุดประทัดตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย
นายวิบูลย์ยังระบุต่อว่า 3. กำชับให้ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เฝ้าระวัง ตรวจตรา อาคารบ้านเรือนพื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ และสถานบริการ ถึงการป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุอัคคีภัยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง และมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ให้มีการเตรียมการป้องกัน และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ให้ประสานงานกับเจ้าพนักงานผู้กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเคร่งครัด 4. กำชับให้ผู้อำนวยการเขตหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับทะเล เข้มงวดตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร ที่มีสภาพไม่มั่นคง แข็งแรง ที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่าย โดยให้แจ้งหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อตรวจสอบ ซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
และ 5. ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและจัดเจ้าหน้าที่และวางระบบสื่อสารเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานด้านสาธารณสุข เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บและเส้นทางลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที
“ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งให้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการคือเฝ้าระวังสถานที่ และกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น การจุดประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติภัย ในกรณีอื่นๆ ได้โดยง่าย และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย และไฟฟ้าส่องสว่าง เตรียมความพร้อมในพื้นที่ หรือชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงภัย เพื่อเฝ้าระวังเหตุ และพร้อมปฏิบัติงานได้ในทันทีที่เกิดภัย พร้อมทั้งขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีเครื่องดับเพลิงที่เหมาะสม ติดตั้งในพื้นที่ หรือชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงภัยอย่างทั่วถึง พร้อมแนะนำวิธีการใช้ บำรุงรักษาเครื่องดับเพลิงดังกล่าวให้ทราบทั่วกัน” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว