มหาดไทยวางมาตรการเข้มช่วงปีใหม่ สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยและอุบัติเหตุ ดูแลนักท่องเที่ยว กำชับห้ามเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟในสถานบันเทิงเด็ดขาด
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงในรูปแบบต่างๆ เฉลิมฉลองเนื่องในวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปจะจัดกิจกรรมนับเวลาถอยหลังเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ในหลายพื้นที่ และมักจะมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย ประกอบกับในห้วงเวลาดังกล่าวจะมีการสัญจรด้วยยานพาหนะตามเส้นทางคมนาคมอย่างคับคั่ง เพื่อเดินทางไปพักผ่อนและท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ เนื่องจากเป็นวันหยุดติดกันหลายวัน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอุบัติภัยจากการสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งการเกิดอุบัติภัยจากการสัญจรทางบกและทางน้ำในช่วงที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้กำชับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ และมีการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หรือการแสดงโดยใช้เทคนิคพิเศษ โดยเฉพาะวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้เตรียมการป้องกันและใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตลอดจนการกำหนดมาตรการห้ามเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิงภายในสถานบันเทิงอย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้เกิดอันตรายจากอัคคีภัย โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2. ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และวางระบบสื่อสารเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
3. กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตราพื้นที่ชุมนุมชน สถานประกอบการ สถานบันเทิง อาคารหรือสถานที่ใด วัสดุสิ่งของภายในและโดยรอบที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยได้โดยง่าย และดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. กำชับให้ผู้อำนวยการเขตหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตรา เส้นทางสัญจร โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ พื้นที่ตลิ่ง ความมั่นคงแข็งแรงของโป๊ะ ท่าเทียบเรือ ความปลอดภัยของเรือโดยสาร ที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยได้โดยง่าย ให้แจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อเข้าดำเนินการปรับปรุง แก้ไขตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ และเข้าใจถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
6. ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการดังนี้ 1) เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย และความปลอดภัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ ที่มีประชาชนมาร่วมงานเฉลิมฉลองอย่างหนาแน่น 2) จัดเตรียมความพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง และกู้ภัยในพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองฯ หรือพื้นที่ชุมนุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันทีที่เกิดภัยขึ้น 3) อำนวยความสะดวก และจัดระเบียบการจราจร รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 7. เมื่อเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยหรือสาธารณภัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบทันที