กคช.ร่วมกับ บตท.เดินหน้าโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท เตรียมออกตราสารหนี้ล็อตแรก วงเงิน 6,000 ล้านบาท ไตรมาส 1/56 ล่าสุด แต่งตั้งแบงก์กรุงเทพ และ HSBC เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ด้าน กคช.เผยนำเงินใช้หนี้โครงการบ้านเอื้ออาทรที่จะครบกำหนดในปีหน้ากว่า 10,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 3.8 หมื่นล้านบาท
นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า จากพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกรรมสินเชื่อที่อยู่อาศัย การจัดหาแหล่งเงิน และการแปลงสินทรัพย์สินหลักทรัพย์ ระหว่างบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. และการเคหะแห่งชาติ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุด มีบทสรุปว่า จะนำลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีประวัติการผ่อนชำระดีอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท มาแปลงเป็นหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น บตท.คาดว่าจะออกตราสารหนี้ประเภท ABS หรือ Asset Backed Securities และ MBS หรือ Mortgage Backed Securities ซึ่งเป็นตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะนำลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อที่มีระยะเวลาเช่าซื้อกับการเคหะฯ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี จากปกติการเคหะฯ จะทำสินเชื่อเช่าซื้อในโครงการบ้านเอื้ออาทรนาน 5 ปี โดยเมื่อลูกหนี้เหล่านี้ครบกำหนดสัญญาเช่าซื้อ ก็จะนำลูกหนี้เหล่านี้ทำ MBS ต่อ สำหรับล็อตแรกจะออกตราสารหนี้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2556 และอีก 4,000 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2556 โดยจะเสนอขายในแก่นักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนในวงจำกัด ส่วนระยะเวลาของตราสารหนี้นั้นขึ้นอยู่กับสัญญาเช่าซื้อของลูกหนี้ที่มีต่อการเคหะฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะอ้างอิงในตลาดช่วงที่ออกตราสารหนี้ ล่าสุด ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่นเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในครั้งนี้ถือเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดของ กคช. ซึ่งปัจจุบัน สินทรัพย์ของบ้านเอื้ออาทรนับวันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมไปถึงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการก่อสร้าง และโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาออกตราสารหนี้ในครั้งนี้ถือเป็นล็อตแรก หากประสบความสำเร็จ กคช.ก็จะมีแนวทางในการระดมเงินทุนเพื่อลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย และปานกลางออกมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรับเม็ดเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้ในครั้งนี้จำนวน 10,000 ล้านบาท กคช.มีแผนที่จะนำไปลดหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ปัจจุบันมีจำนวน 38,000 ล้านบาท โดยจะครบกำหนดชำระในปี 2556 จำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนมูลหนี้ที่เหลือจะทยอยครบกำหนดชำระในปีถัดไป
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า เมื่อลดภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการบ้านเอื้ออาทรลงแล้ว ก็จะทำให้ กคช.มีความคล่องตัวในการบริหารงานได้มากขึ้น พร้อมกับเตรียมพัฒนา “บ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย โครงการ 2” จำนวน 50,000 หน่วย ราคาไม่เกิน 600,000 บาท/หน่วย ซึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 120,000 บาท/หน่วย มูลค่าโครงการประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 56 นี้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะแตกต่างจากโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยจะนำปัญหาที่เกิดในบ้านเอื้ออาทรมีปรับใช้ เช่น 1.ทำเลที่ตั้งโครงการจะเน้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ส่วนในต่างจังหวัดนั้นจะพัฒนาเฉพาะในหัวเมืองหลักเท่านั้น เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา เป็นต้น ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้มีความต้องการสูงอยู่แล้ว
2.รูปแบบบ้านจะเปลี่ยนไป ไม่มีบ้านเดี่ยว จะมีเฉพาะบ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และอาคารสูง ซึ่งอาคารสูงนี้จะพัฒนาให้สูงถึง 12 ชั้น จากเดิมเพียง 5 ชั้นเท่านั้น และ 3.การก่อสร้างจะต้องใช้ระบบเดียวกันทั้งประเทศ โดยจะใช้ระบบสำเร็จรูป ซึ่งที่ผ่านมา กคช.ได้ทดลองใช้กับบ้านเอื้ออาทรมาแล้วพบว่า ทำให้งานก่อสร้างเร็วขึ้น ประหยัดมากขึ้น เช่น อาคารสูง 5 ชั้น ขนาด 3,000 หน่วย ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปีครึ่ง
นอกจากการพัฒนาโครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยแล้ว กคช. ยังเตรียมพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้เมือง หรือเข้ามาในเมืองมากขึ้น เช่น ตามแนวรถไฟฟ้า แต่จะยังคงเน้นกลุ่มลุกค้าระดับกลาง และล่างเช่นเดิม โดยจะเสนอขายในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน กคช.มีที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆจำนวนหลายแปลง เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยมีที่ดินขนาดกว่า 1,000 ไร่ ที่ร่มเกล้า และอีกแปลงที่รามอินทรา ส่วนสายสีส้มมีที่ดินที่บางพลี และบางปูอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่
“โครงการนี้ต้องการให้เกิดเร็วที่สุดในปี 56 นี้ โดยคาดว่าจะเห็นที่รามอินทราก่อนซึ่งที่ดินตรงนั้นมีขนาด 4 ไร่ ซึ่งมีขนาดเล็กไป เราต้องการซื้อเพิ่มอีก 30 ไร่ที่อยู่ด้านในซึ่งเป็นที่ดินตาบอด หากเจ้าของที่ดินขายให้ก็จะพัฒนาทันที ส่วนโครงการอื่นๆ ก็จะทยอยพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะกำหนดราคาประมาณ 9 แสนบาท หรือไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่ง กคช.ไม่ได้ต้องการแย่งตลาดของเอกชน แต่ต้องการให้ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยสามารถซื้อบ้านในเมือง หรือใกล้เมืองได้” นายวิฑูรย์กล่าว