รฟม.เอ็มโอยูการเคหะฯ ผุดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า นำร่องพัฒนาในพื้นที่ศูนย์ซ่อมฯ สีม่วง สีเขียว สีส้มและสีน้ำเงิน มีพื้นที่รวมกว่า 500 ไร่ก่อน ด้าน “สันติ” เผยประชาชนยังต้องการที่อยู่อาศัยกว่า 1 ล้านยูนิต เดินหน้าปรับปรุงแฟลตดินแดงอายุกว่า 40 ปี รับสายสีส้ม เร่งทำความเข้าใจลดแรงต้านชี้ 80% ต้องการของใหม่เพื่อความปลอดภัย ส่วน รฟม.เตรียมปรับการศึกษาเป้าหมายผู้โดยสารรถไฟฟ้าใหม่ มั่นใจการเดินทางจะเพิ่มขึ้นแน่ เตรียมตั้ง บ.ลูกพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นระบบ
วันนี้ (28 ก.ย.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจการใช้ทรัพยากรร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยนายจารุพงศ์เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 10 สายจะประสบความสำเร็จไดจะต้องมีผู้ใช้บริการ ดังนั้นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารและทำให้ กทม.หลวมขึ้น
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า หลักการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเน้นอยู่ใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดปโป้) เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบร่วมกับการเคหะฯ เพื่อพัฒนาเป็นอาคารเช่าสำหรับที่อยู่อาศัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2558 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะแล้วเสร็จและเริ่มทดสอบเดินรถกลางปี 2558 จึงคาดว่าน่าจะเป็นโครงการแรก, เดปโป้สายสีเขียวที่สมุทรปราการ ประมาณ 300 ไร่, สายสีส้มที่มีนบุรี ประมาณ 120 ไร่, สายสีน้ำเงินที่หลักสอง ประมาณ 80 ไร่ กำลังศึกษาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารที่พักประมาณ 30 ชั้น บนเดปโป้แต่ละแห่ง และยังมีแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยด้านบนอาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว
สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งฐานรากที่ออกแบบไว้สามารถรองรับได้ 20 ชั้น โดยอาคารจอดรถปัจจุบันสูง 9 ชั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินของรฟม.ที่เวนคืนมานั้น สามารถดำเนินการได้ไม่ขัด พ.ร.บ.เวนคืนฯ แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานรัฐด้วยกัน โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษารายละเอียดในการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า 10 สาย ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร กว่า 100 สถานี ในขณะเดียวกันรฟม.จะต้องมีการศึกษาเพื่อปรับปรุงแผนประมาณการผู้โดยสารรถไฟฟ้าใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย โดยต้นปี 2556 แผนรายละเอียดโครงการที่อยู่อาศัยของกคช.ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะมีความชัดเจนว่าจะอยู่จุดใดบ้าง
“การที่การเคหะฯเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ รฟม.นั้น เป็นได้ทั้งการจ่ายค่าเช่า หรือการตั้งบริษัทลูกร่วมกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกัน” นายยงสิทธิ์กล่าว
รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า การเคหะฯเชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจพบว่า ประชาชนมีความต้องการอีกกว่า 1 ล้านยูนิต ซึ่งการก่อสร้างอยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า เพราะที่ดินมีราคาสูง โดยจะกำหนดให้อยู่ห่างจากสถานีไป 2-5 กิโลเมตร เพื่อลดต้นทุนค่าที่ดินลง และในแต่ละโครงการควรมีพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 100-200 ไร่ เพื่อให้จูงใจสำหรับระบบขนส่ง (รถชัตเติลบัส) ต่างๆ ที่เข้าไปให้บริการเพื่อเชื่อมการเดินทางจากโครงการไปยังสถานี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนจอดรถไว้บ้าน โดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่น้อยลงโดยรัฐสามารถใช้นโยบายตั๋วร่วม และค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยโครงการที่การเคหะฯ จะพัฒนาได้เป็นรูปธรรมก่อน คือ การปรับปรุงเคหะดินแดง (แฟลตดินแดง) ซึ่งอยู่ในแนวเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-รามคำแหง-เทพลีลา-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-กทม.2-สามเหลี่ยมดินแดง) เนื่องจากอาคารใช้งานมากกว่า 40 ปี มีสภาพเก่า และไม่ปลอดภัย โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 30 ชั้น และผู้ที่อยู่อาศัยเดิมจะได้สิทธิ์ทุกราย ซึ่งระหว่างก่อสร้างจะแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้กระทบผู้อยู่อาศัยและอาจจะมีการหมุนเวียนบางส่วนออกไปพักที่อื่นชั่วคราว ส่วนที่เหลือจะเปิดให้รายใหม่โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มจะก่อสร้างในปี 2557 พร้อมกับการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยดินแดง ซึ่งที่ผ่านมา การเคหะฯได้ลงพื้นที่สำรวจและประชุมทำความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัยกว่า 80% เห็นด้วยกับการพัฒนา ส่วนที่ต่อต้านจะเป็นนายทุนที่มีหลายยูนิตและให้เช่าต่อในราคาแพง
“คนเดิมจะได้สิทธิ์ทั้งหมด การต่อต้านเกิดจากกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ แต่เชื่อว่าหากเข้าไปสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการพัฒนาดังกล่าว จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ และสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เพราะตึกเก่าทรุดโทรมหากเกิดแผ่นดินไหว 2-3 ริกเตอร์แล้วถล่มใครจะรับผิดชอบ
ส่วนราคาขายสำหรับผู้เข้าอยู่ใหม่ จะเป็นราคาค่าก่อสร้างบวกกับค่าดำเนินการ ซึ่งเป็นหลักการของการเคหะฯ ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง” นายสันติกล่าว