xs
xsm
sm
md
lg

การเรียนปริญญาเอก

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าใครจบปริญญาเอกคนแรกของเมืองไทย บ้างก็ว่าพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต่อมามีผู้จบปริญญาเอกทางกฎหมายจากเยอรมนี และฝรั่งเศสที่โด่งดังก็คือ ดร.หยุด แสงอุทัย และดร.ปรีดี พนมยงค์ หลังจากนั้นก็มี ดร.อังดรัว คือปริญญาเอกทางกฎหมายอีกหลายคน ส่วนดร.ปรีดีนั้น จบสูงกว่าพวกดร.อังดรัว เพราะฝรั่งเศสมีปริญญาเอกที่เรียกว่า ดร.เดต้าหรือแห่งรัฐด้วย

ดร.สมัยก่อนมีน้อยจนนับตัวได้ แต่มามีมากขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะผู้จบ ดร.จากอเมริกา อาภรรยาผมไปจบที่มหาวิทยาลัยเยลชื่อ ดร.ส่งสุข สาครบุตร สมัครเข้าเป็นทหารอเมริกันมารบที่ฟิลิปปินส์ และเมื่อเสร็จสงครามก็กลับมาเมืองไทย แต่แล้วก็กลับไปอเมริกาและอยู่ทำงานที่นั่นจนตาย

มหาวิทยาลัยในอเมริกามีมากกว่าอังกฤษ จะเรียกว่ามีอยู่ทุกรัฐก็ว่าได้ ที่มีชื่อเสียงเรียกว่า “Ivy League” เพราะมีตึกเก่าๆ สีแดง และมีไม้เลื้อยอยู่ตามตึก ส่วนพวก Big Ten ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาเป็นหมื่นๆ คน

การเรียนปริญญาโทในอเมริกา บางมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นแค่ทางผ่านไปสู่ปริญญาเอก ดังนั้นจึงเรียนเพียง 24-30 เครดิตเท่านั้น ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผมเรียนปริญญาโทแค่ 24 เครดิต ปีเดียวก็จบแล้ว แต่ทุนที่ได้เขาให้สองปี ผมจึงถือโอกาสเรียนต่อไปเรื่อยๆ

การเรียนปริญญาเอกไม่ยาก แต่จะยากก็ตรงการเขียนวิทยานิพนธ์ ใครจะจบช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับว่าที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จะเอาใจใส่มากน้อยเพียงใด มีเวลาตรวจงานที่ส่งไปให้มากแค่ไหน

นักศึกษาปริญญาเอกส่วนใหญ่จะได้ทุนจากมหาวิทยาลัย และเป็นทุนประเภทผู้ช่วยสอน มีหน้าที่เป็นติวเตอร์และเป็นเบ๊ของอาจารย์ พวกวิทยาศาสตร์ก็ทำงานช่วยเตรียม Lab ส่วนพวกสังคมศาสตร์ก็ช่วยอาจารย์ตรวจข้อสอบ ตรวจเสร็จอาจารย์ก็จะดูอีกครั้ง วิธีการก็คือจะคัดเอาพวกได้ A และ C ให้อาจารย์ดูอีกครั้ง ส่วนพวกได้ B อาจารย์ไม่ต้องดู นักศึกษาเหล่านี้จะสนิทสนมกับอาจารย์มาก เรียกชื่อแรกของอาจารย์เลย ถ้าอาจารย์มีหมาก็จะช่วยพาหมาไปเดินเล่น เรียกว่าฝากชะตากรรมกันไว้กับที่ปรึกษาเลย

บางคนโชคร้ายเจอที่ปรึกษาที่ไม่ค่อยว่าง ซึ่งมักจะเป็นคนดังๆ มีเรื่องต้องเดินทางไปโน่นมานี่บ่อยๆ ที่วิสคอนซินมีคนดังหลายคน แต่ไม่เคยเห็นหน้ามีแต่ป้ายหน้าห้อง

การเขียนวิทยานิพนธ์ยาก แรกเริ่มก็ตรงเลือกเรื่องที่จะเขียนแล้วนำไปเสนออาจารย์เพื่อให้อนุมัติหัวข้อ ส่วนการเขียนนั้นสองบทแรกๆ ไม่ยาก เพราะเป็นการเกริ่นนำ และสำรวจวรรณกรรมว่าเรื่องที่จะทำมีใครเขาเขียนอะไรไว้ก่อน อย่างไรบ้าง

การจะเขียนวิทยานิพนธ์ให้เร็วนั้นต้องมีเคล็ดลับ โดยปกติการเรียนปริญญาเอก จะมีวิชาที่มีรหัสสูงๆ เช่น 700 หรือ 800 ไปถึง 900 วิชาเหล่านี้จะต้องเขียนรายงานด้วย และต้องนำไปเสนอในห้องเรียนเพื่อให้เพื่อนๆ ในชั้นวิจารณ์ เป็นการทดสอบและให้เราได้แก้ไข

วิธีการเขียนให้เร็วก็คือ ในเทอมหนึ่งๆ เราจะต้องเขียนรายงาน 3 ฉบับ ผมก็เลือกเอาแต่ละบทของวิทยานิพนธ์เขียนเป็นรายงาน เรียกว่าเอาส่วนเนื้อๆ ของวิทยานิพนธ์เป็นรายงาน พอได้ 3 บทแล้ว เขียนบทนำ และบทสรุปหัวห้ายก็จบแล้ว เรียกได้ว่าในเทอมหนึ่งๆ เราเรียนเก็บหน่วยกิตไปด้วย และเขียนวิทยานิพนธ์ไปด้วย ก็ใช้เวลาเพียง 6 เดือนก็เสร็จแล้ว

การเรียนปริญญาเอกในประเทศไทย ทางสังคมศาสตร์บางแห่งก็ไม่เข้มงวด นักศึกษาจึงไม่ค่อยจะต้องเขียนรายงานต่างจากสมัยก่อน ผมสอนปริญญาโทที่นิด้าทุกวิชาการทำรายงานเป็นเรื่องสำคัญ รายงานแต่ละฉบับก็หนา 30-40 หน้า นักศึกษาต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากมาย คนจบปริญญาโทจากนิด้าเมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว จึงความรู้แน่นได้ดีไปหลายคน รายงานที่เสนอเมื่อนำมาปรับปรุงแล้วก็เอาไปรวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือได้

ผมแนะนำให้คนเรียนปริญญาเอกหมั่นอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ผมจำได้ว่าก่อนผมจะสอบในระดับปริญญาเอกนั้น ผมต้องอ่านหนังสือเล่มสำคัญๆ ของสาขาที่จะสอบจนรอบรู้ ส่วนการทำวิทยานิพนธ์ ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้ดี จะใช้วิธีอย่างที่ผมทำก็ได้ มิฉะนั้นจะมีปัญหาว่าเรียนสี่ปีแล้วก็ยังไม่จบ หมดเวลา 5 ปีก็ต้องขอต่อเวลาไปเรื่อยๆ

โดยสรุปแล้ว เวลานี้มีการเปิดสอบปริญญาเอกหลายแห่ง แต่ละแห่งก็มีอาจารย์ดีๆ เก่งๆ ไปสอนที่สำคัญก็อยู่ที่นักศึกษาด้วย ว่าจะเอาใจใส่เพียงใด และจะอ่านหนังสือมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นการเรียนปริญญาเอกสมัยนี้ก็ต้องใช้เงินอย่างต่ำก็หนึ่งล้านบาท จึงควรตั้งใจเรียนให้คุ้มค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น