xs
xsm
sm
md
lg

ได้ฤกษ์ก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ร.ฟ.ท.เตรียมเซ็นสัญญา กลุ่ม SU 18 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประภัสร์” เผยนัดกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญา 1 l สถานีกลางบางซื่อ 2.98 หมื่นล้าน 18 ม.ค.นี้ หลังประมูลยืดเยื้อมา 2 ปี ส่วนสัญญา 2 รอไจก้าเห็นชอบ พร้อมเซ็นสัญญาต่อ ขณะที่สัญญา 3 งานระบบ เตรียมเรียกผู้ยื่นข้อเสนอ 2 รายให้ข้อมูลเชื่อไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้ว

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มกราคมนี้ ร.ฟ.ท.จะลงนามโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง) มูลค่า 29,828 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ) ผู้รับเหมา

ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างงานโยธาและสถานี ระยะทาง 26 กิโลเมตร มูลค่า 21,235 ล้านบาท ที่มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับเหมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประกวดราคาแล้วอยู่ระหว่างแจ้งผลให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ผู้ให้เงินกู้ รับทราบก่อนหากไม่มีปัญหา จะลงนามสัญญากับผู้รับเหมาต่อไป

สำหรับการประกวดราคาสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาท ที่มีปัญหาการตีความกรณีมีมีชื่อกรรมการอิสระเหมือนกันใน 2 บริษัท ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) นั้น นายประภัสร์กล่าวว่า คณะกรรมการประกวดราคาที่มีนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เป็นประธาน จะเชิญเอกชนที่เข้ายื่นข้อเสนอทั้ง 4 รายมาชี้แจงในวันที่ 18 มกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นว่าการประกวดราคาสัญญา 3 ยังไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ฮั้วประมูล เพราะการที่บุคคลใดเป็นกรรมการซ้อนใน 2 กลุ่มที่ยื่นประกวดราคา เป็นเรื่องปกติของประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และมักนิยมกระทำเพื่อให้การประกวดราคาเกิดความโปร่งใส โดยกรรมการจะไม่เข้าประชุมในเรื่องที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งประเทศไทยอาจยังไม่คุ้นกับวิธีการเช่นนี้ จึงมองว่าเข้าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

“การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ญี่ปุ่นและเขาถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งการที่เขาปฏิบัติตามกฎหมายของเขา แต่เราไปบอกว่าผิดกฎหมายฮั้วของเราคงไม่ได้ ที่สำคัญคือความผิดยังไม่ได้เกิดขึ้น การที่กรรมการคนหนึ่งจะนั่งเป็นบอร์ด 2 กลุ่ม ก็เหมือนกับประเทศไทยที่บุคคลคนหนึ่ง อาจนั่งเป็นบอร์ดหลายที่ก็ได้ แต่ต้องไม่เข้าร่วมประชุมในวาระที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งเราก็ต้องให้เขามาชี้แจงตรงนี้ ถ้าเขาชี้แจง พิสูจน์ได้ชัดเจนก็เดินหน้าประมูลต่อ แต่ถ้าเขาชี้แจงแล้วเห็นว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติเราก็ยกเลิกประมูลไปเท่านั้นเอง” นายประภัสร์กล่าว

โดยสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย คือ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) 2. กลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium (บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft บริษัท SIEMENS LIMITED บริษัท MITSUBISHI CORPORATION และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK)

3. กลุ่มกิจการร่วมค้า MIR Consortium (บริษัท Maru Beni coporation บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)หรือ ITD และ บริษัท Hyundai Rotem Company) 4. กลุ่มกิจการร่วมค้า SAMSUNG Consortium (บริษัท Samsung engineering LTD บริษัท Chr zhu zhou electronic locomotive ltd บริษัท Sojitz jitz corperation และบริษัท Samsung SDS Ltd)
กำลังโหลดความคิดเห็น