“คมนาคม” เคลียร์คลัง ไฟเขียวลงนามรถไฟสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สัญญา 1 กับกลุ่ม SU 2.9 หมื่นล้าน ไม่ต้องรอประมูลทั้ง 3 สัญญา “ชัชชาติ” ยันเซ็นได้ภายใน ธ.ค.นี้เพราะล่าช้ามานานแล้ว ส่วนสัญญา 2 บีบ ITD ลดราคาเหลือ 2.1 หมื่นล้าน ชงบอร์ดเห็นชอบ 14 ธ.ค.นี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิตว่า จากการหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ข้อตกลงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะสามารถลงนามสัญญา 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง) วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาทได้หลังสรุปผลประกวดราคาสัญญา 2 แล้ว โดยไม่ต้องรอให้การประกวดราคาสัญญาที่ 3 แล้วเสร็จเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า โดยปัญหาของสายสีแดงจะเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคมนี้
“สัญญา1, 2ไม่มีปัญหาพร้อมเดินหน้าซึ่งตอนนี้ล่าช้ามากแล้ว ส่วนสัญญา 3 เป็นงานระบบรถไฟฟ้ายังพอมีเวลา ดังนั้นหากการตีความกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอถือหุ้นไขว้กันซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) ก็ให้ยกเลิก โดยให้ ร.ฟ.ท.ไปดำเนินการตามขั้นตอนเงื่อนไขขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA” นายชัชชาติกล่าว
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการเจรจาต่อรองราคาสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 21 กิโลเมตร กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้เสนอราคาต่ำสุดเสร็จแล้วอยู่ที่ 2.12 หมื่นล้านบาท ลดลงจากราคาที่เสนอ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งราคาสุดท้ายอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยจะเสนอผลการประกวดราคาต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในวันที่ 14 ธ.ค. จากนั้นจะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น ในส่วนของสัญญา 1 คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ได้ภายในสัปดาห์หน้า
ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า) ช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาทนั้น ตามขั้นตอนจะต้องรอคำตอบจาก JICA เจ้าของเงินกู้ กรณีที่จะยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งในส่วนของไทยเห็นว่าเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูลของไทย