รถไฟสีแดงงานเข้าอีก เหตุกฤษฎีกาตอบไม่ชัดประมูลสัญญา 3 เข้าข่ายฮั้วหรือไม่ โยน ร.ฟ.ท.พิจารณาเอง ตอบแค่ไม่ขัดแย้งข้อกฎหมาย “ชัชชาติ” สั่งเร่งสรุป ชี้ล่าช้าแล้ว 3-4 เดือน ยอมรับประเด็น กก.อิสระมีชื่อใน 2 บริษัท กม.ไทยก็เขียนไม่ชัด เผยไจก้ากังวล ถามความชัดเจนนโยบายสีแดงเดินหน้าหรือยกเลิก สับสนข่าวเปลี่ยนขนาดราง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้าพบเมื่อวันที่ 20 กันยายนว่า ไจก้าได้สอบถามถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งไจก้าเป็นเจ้าของเงินกู้ เพราะกังวลและไม่มั่นใจนโยบายหลังจากมีข่าวว่าจะมีการยกเลิกโครงการ และเปลี่ยนรางจาก 1 เมตร (Meter Gauge) เป็นขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ซึ่งได้ยืนยันกับไจก้าว่าโครงการเดินหน้าต่อไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสัญญา 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงจะมีการลงนามสัญญาก่อสร้างกับกิจการร่วมค้า SU เร็วๆ นี้ ส่วนสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ที่เสนอราคาต่ำสุด ทั้งนี้ เห็นว่ากระทรวงคมนาคมควรชี้แจงกับไจก้าอย่างเป็นทางการด้วย
ส่วนสัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) วงเงิน 26,272 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหาผลประโยชน์ร่วมเนื่องจากมีกรรมการอิสระมีชื่ออยู่ในหลายบริษัทนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ หรือไม่ ซึ่งทราบว่าทางกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบมาแล้ว โดยให้ความเห็นเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดแย้งข้อกฎหมาย ดังนั้นทาง ร.ฟ.ท.คงจะต้องพิจารณารายละเอียดและตีความกฎหมายว่าเข้าข่ายฮั้วหรือไม่ โดยจะต้องเร่งตัดสินใจเนื่องจากการดำเนินงานล่าช้าแล้ว 3-4 เดือน
“เรื่องกรรมการอิสระมีชื่อในหลายบริษัท ทางไจก้าไม่ติดใจเพราะกรรมการอิสระไม่มีอำนาจบริหาร และเห็นว่ากรณีนี้โปร่งใส ในขณะที่กฎหมายไทย พ.ร.บ.ฮั้ว ก็ไม่ชัดเจนเพราะต้องเป็นการถือหุ้นจึงจะเข้าข่าย ร.ฟ.ท.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะข้อสรุปอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานการประมูลในอนาคตที่อาจจะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก” นายชัชชาติกล่าว
นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 1 ร.ฟ.ท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการรถไฟสายสีแดงสัญญา 3 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือจากกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ ทราบขั้นต้นว่าตอบมาแล้วว่าไม่มีประเด็นพิจารณาด้านกฎหมาย แต่จะต้องดูรายละเอียดของกฤษฎีกาทั้งหมดก่อน ซึ่งการตัดสินใจยกเลิกหรือเดินหน้าต่อไปนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาสัญญา 3 ชุดก่อน ที่มีนายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าฯ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท.เป็นประธานได้เสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.ยกเลิกประมูล เพราะเห็นว่าตามกฎหมายไทยอาจเข้าข่ายฮั้วประมูล แต่ทางไจก้าไม่เห็นด้วยจึงต้องส่งเรื่องให้กฤษฎีกาชี้ขาด
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กฤษฎีกาไม่ได้ตอบชัดเจนทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องดูคำตอบของกฤษฎีกาแบบคำต่อคำประกอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประกวดราคาฯ ซึ่งหากยกเลิกประมูลต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดประมูลใหม่อย่างไร และมีผลกระทบแค่ไหน
สำหรับการประมูลรถไฟสายสีแดง สัญญา 3 มีผู้ยื่นข้อเสนอมาจำนวน 4 ราย พบว่ามีกรรมการอิสระเหมือนกันใน 2 บริษัท ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันและเข้าข่ายฮั้ว ในขณะที่ไจก้าในฐานะเจ้าของเงินกู้ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่มีปัญหาหรือกระทบต่อความโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องปกติของโครงสร้างบริษัทญี่ปุ่นที่จะมีคนของบริษัทที่อาจจะเป็นคู่แข่งเข้ามาเป็นกรรมการอิสระในบริษัทเพื่อความโปร่งใสและช่วยตรวจสอบการทำงาน โดยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้มีอำนาจบริหาร