xs
xsm
sm
md
lg

ITD เสนอ 2.41 หมื่น ล.ก่อสร้างรถไฟสีแดงสัญญา 2 รับหนักใจต้นทุนเพิ่ม 10% จ่อขอ ครม.เพิ่มกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
อิตาเลียนไทยฯ คว้าสัญญา 2 สายสีแดง เสนอราคา 2.41 หมื่นล. ต่ำกว่า ช.การช่างกว่า 400 ล. แต่สูงกว่ากรอบ ครม.ถึง 6 พันกว่าล้าน ร.ฟ.ท.มั่นใจเจรจาต่อรองได้ ยึดหลักการเดียวกับสัญญา 1 เน้นลดค่าบริหารจัดการ เตรียมแจ้งผลไจก้าขอเจรจาต่อรองตามเงื่อนไขเงินกู้ ยอมรับหากเกินงบเตรียมเสนอ ครม.ขอเพิ่มวงเงิน ด้าน “อิตาเลียนไทยฯ” ยอมรับหนักใจ ชี้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มอย่างน้อย 10% หลัง รบ.ปรับค่าแรง 300 บาท

เมื่อวันที่ 5 กันยายน2555 คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ได้เปิดซองข้อเสนอด้านราคาของผู้ยื่นประกวดราคา 2 ราย โดยปรากฏว่า บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 24,102,324,009.00 บาท (รวม VAT 7% แล้ว) ส่วน บมจ. ช.การช่าง เสนอราคา 24,550,449,525.00 บาท สูงกว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ประมาณ 448,125,516 บาท

โดยนายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาฯ สัญญา 2 รถไฟสายสีแดงเปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอของอิตาเลียนไทยฯ ว่าถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดในทีโออาร์หรือไม่ ซึ่งแม้ว่าอิตาเลียนไทยฯ จะเสนอราคาต่ำสุดแต่ยังเกินกรอบวงเงินที่ ร.ฟ.ท.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นจะต้องมีการเจรจาปรับลดค่าก่อสร้างลง

ทั้งนี้ หากตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอทางการเงินของอิตาเลียนไทยฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนการเจรจาต่อรองราคานั้น ร.ฟ.ท.จะต้องแจ้งไปยังองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อขอความเห็นชอบตามเงื่อนไขเงินกู้ก่อน โดยคาดว่าจะใช้เวลาเจรจาต่อรองราคาประมาณ 1 เดือน และหากผลการเจรจาเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายและไม่เกินกรอบวงเงินที่ ครม.เห็นชอบ จะดำเนินการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. และไจก้า และเสนอ ครม.เพื่อลงนามสัญญาก่อสร้างได้

แต่หากผลการเจรจาข้อสรุปราคาสูงกว่ากรอบที่ ครม.อนุมัติ จะต้องเสนอ ครม.เพื่อขอเพิ่มกรอบวงเงิน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับสายสีแดงสัญญา 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง) ที่กิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุดแต่สูงกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ

นายประจักษ์กล่าวว่า แนวทางการเจรจาราคาสัญญา 2 สายสีแดงจะใช้หลักการเดียวกับสัญญา 1 ที่สามารถลดลงมาอยู่กรอบ คือไม่เกิน 10% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ โดยยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ โดยพิจารณาปรับลดในเรื่องค่าบริหารจัดการภายใน เช่น ที่ตั้งสำนักงานโครงการที่เหมาะสมเพื่อสามารถวางแผนการขนส่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยสัญญา 1 สามารถปรับลดได้หลายร้อยล้านบาท เป็นต้น

“ราคาที่ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และ บมจ.ช.การช่าง ต่างกัน 400 กว่าล้านซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะต้นทุนค่าวัสดุและแรงงานใช้ในประเทศเหมือนกัน ความต่างจะอยู่ที่ค่าบริหารจัดการ โดยการประเมินค่าก่อสร้างเพื่อเจรจาต่อรองนั้น ร.ฟ.ท.จะใช้ฐานราคาต้นทุนปี 2553 ก่อนยื่นซอง 45 วันเป็นหลัก ขณะที่มีระเบียบกระทรวงการคลังในเรื่องการปรับราคาหลังลงนามสัญญาแล้ว เรื่องค่าเค อีกต่างหาก” นายประจักษ์กล่าว

ด้านนายวิทวัส คุณาพงศ์ศิริ ผู้จัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยอมรับว่า ค่อนข้างหนักใจกับการปรับลดราคาลง เนื่องจากต้นทุนโดยรวมได้มีการปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งเฉพาะค่าแรง 300 บาททำให้ต้นทุนค่าแรงงานของโครงการเพิ่มประมาณ 4% ส่วนค่าวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นเกือบ 10% จากราคาที่เสนอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทจะต้องศึกษาว่าจะสามารถปรับลดค่าก่อสร้างหรือค่าใช้จ่ายในส่วนใดลงได้บ้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น