xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เตรียมปิดดีลประมูลหัวจักร 20 คันเปิดราคา 3 ผู้ผลิตจีน “กลุ่มล็อกซเล่ย์” ยังเต็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เปิดซองราคาหัวจักร 20 คัน 3,300 ล. เผย 3 ผู้ผลิตจีนผ่านฉลุยตบเท้าลุ้นราคา จับตาโรงงานต้าเหลียน ที่มีล็อกซเล่ย์เป็นตัวแทนจำหน่ายยังเป็นเต็งหนึ่ง ขณะที่ผู้ผลิตยุโรปตกสเปกหมดสิทธิ์ลุ้น ส่วนสายสีแดงเตรียมเปิดสัญญา 2 วันที่ 5 ก.ย.นี้ “อิตัลไทย-ช.การช่าง” ชิงดำ

นายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ ขนาด 20 ตัน/เพลา 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาท เปิดเผยว่า หลังจากที่มีผู้สนใจยื่นซองประกวดราคาจำนวน 6 ราย ปรากฏว่า มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 3 ราย คือ 1. บริษัท China CNR Corporation ผู้ผลิตจากจีนตอนเหนือ โรงงานต้าเหลียน 2. บริษัท Eic Zhongghe จอยต์เวนเจอร์ ผู้ผลิตจากจีนตอนใต้ โรงงานซื่อหยาง และ 3. บริษัท Qishuyan จากประเทศจีน โดยจะเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของทั้ง 3 รายในวันนี้ (4 ก.ย.) เวลา 14.00 น.

ทั้งนี้ ผู้ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคล้วนเป็นบริษัทจากจีนทั้งสิ้น ในขณะที่บริษัทจากยุโรปที่ยื่นประกวดราคา คือ บริษัท Vossloh Espana จากประเทศสเปนนั้นมีทุนจดทะเบียนต่ำกว่าที่กำหนดจึงไม่ผ่านคุณสมบัติ ส่วนอีก 2 รายไม่เคยผลิตรถจักรแบบลากจูง หัวรถไฟดีเซลแบบ AC-AC จึงถือว่ารายละเอียดข้อเสนอด้านเทคนิคไม่ตรงกับที่กำหนด

นายประจักษ์กล่าวว่า ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างผู้ได้รับการคัดเลือกคือผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยราคาที่เสนอจะสูงกว่าราคากลางได้ไม่เกิน 10% และสามารถเจราจรต่อรองได้ แต่หากเจรจาไม่ได้ จะต้องยกเลิกและให้ผู้ผ่านคุณสมบัติยื่นราคาใหม่ โดยหัวรถจักร 20 คัน ราคากลาง 3,000 ล้านบาท ค่าอะไหล่ 10% ประมาณ 300 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กลุ่มผลิตและจำหน่ายจากโรงงานต้าเหลียนของจีน หรือ CNR ซึ่งมีกลุ่มบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนจัดจำหน่ายยังคงเป็นกลุ่มที่คาดหมายว่าจะชนะประมูลครั้งนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมที่ถูกวางไว้ว่าจะได้งานดังกล่าวตั้งแต่เมื่อเปิดประมูลแยก 2 ล็อต คือ หัวจักร 7 คัน และ 13 คัน แต่ถูกร้องเรียนความไม่โปร่งใสจนต้องยกเลิกไป โดยหากประเมินจากสเปครถจักรในทีโออาร์ของ ร.ฟ.ท.พบว่า เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ผลิตจากประเทศจีนมากกว่าประเทศทางยุโรป

นายประจักษ์กล่าวถึงความคืบหน้าการประกวดราคา สัญญา 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตว่า ขณะนี้ได้ส่งร่างสัญญาให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะตอบกลับภายในสัปดาห์นี้จากนั้นจะเรียกกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มาลงนามสัญญาก่อสร้าง วงเงิน 29,862 ล้านบาท

โดยในวันที่ 5 กันยายน จะเปิดซองข้อเสนอด้านราคาสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ 1. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2. บมจ.ช.การช่าง และ 3.กิจการร่วมค้า SU แต่ ร.ฟ.ท.จะเปิดซอง 2 ราย โดยกลุ่ม SU ไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากคุณสมบัติรับงานได้สัญญาเดียว ซึ่ง SU ได้สัญญา 1 ไปแล้ว ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) มูลค่า 26,272 ล้านบาท ยังมีปัญหาผลประโยชน์ร่วมเนื่องจากมีกรรมการอิสระมีชื่ออยู่ในหลายบริษัท โดยอยู่ระหว่างรอความเห็นจากกฤษฎีกา ว่าเข้าข่าย พ.ร.บฮั้วหรือไม่ จากนั้นจะต้องแจ้งผลให้ไจก้าพิจารณา โดยการประมูลสัญญา 3 ยังมีเวลาดำเนินกาอย่างน้อย 9 เดือนหลังจากเซ็นสัญญา 1 และ 2 เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องการเวนคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น