xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวเพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟสีแดง เด้งจ้างบีเอ็มซีแอลเดินรถสีม่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบผลประมูลรถไฟสีแดงสัญญา 2 พร้อมอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินอีกเกือบ 3 พันล้านบาท “ชัชชาติ” สั่ง ร.ฟ.ท.เดินหน้าเซ็นสัญญาก่อสร้าง ชี้ราคาเพิ่มเหตุประมูลล่าช้าไม่เกี่ยวกับขึ้นค่าแรง 300 บ. และสั่งต่อรองบีเอ็มซีแอลลดค่าจ้างเดินรถสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ส่วนซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเลื่อนไปอาทิตย์หน้า อ้างเอกสารประกอบมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ได้เห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟและสถานี) ระยะทาง 26 กิโลเมตร ซึ่ง บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับเหมา พร้อมกับอนุมัติขยายงบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติมจาก 19,000 ล้านบาท เป็น 21,235 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9%

ทั้งนี้ ยืนยันว่าต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่มีสาเหตุมาจากค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการดำเนินโครงการมีความล่าช้าจากแผนกว่า 5 ปี โดยหลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเร่งลงนามสัญญากับผู้รับเหมาในสัญญา 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ซึ่งกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นผู้รับเหมาและสัญญา 2 ภายในเดือนมกราคมนี้ และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก โครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551-2552 แต่มีความล่าช้าทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สอดคล้องกับราคาที่ตั้งไว้เดิม แต่เป็นวงเงินที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จากกรอบราคาเดิม ส่วนสัญญาที่ 1 ครม.ได้เห็นชอบไปแล้วผลการประกวดราคาไปแล้วนั้นจะหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ว่าจะลงนามกับผู้รับเหมาเมื่อใด เบื้องต้นคาดว่าภายในเดือนมกราคมนี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 1 เดือน โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทนั้น นายประภัสร์กล่าวว่า ข้อกังวลกรณีมีมีชื่อกรรมการอิสระเหมือนกันใน 2 บริษัท ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) นั้น เบื้องต้นทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า ไม่มีปัญหา ดังนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเชิญผู้แทนบริษัทมาชี้แจงต่อคณะกรรมการประกวดราคา ถ้าไม่พบมีผลประโยชน์ร่วมกันก็จะเดินหน้าการประกวดราคาต่อ แต่หากมีปัญหาก็ต้องยกเลิก

สั่งต่อรองค่าจ้างบีเอ็มซีแอลเดินรถสีม่วงใหม่

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้พิจารณาผลการประกวดราคา โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 4 สัมปทานสำหรับการลงทุนการจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ไปเจรจาต่อรองกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล เพื่อลดค่าจ้างลงจากราคา 85,990.50 ล้านบาท เพราะเห็นว่าเป็นราคาที่ยังสูงไปและสามารถปรับลดลงได้อีก พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมหาแนวทางเดินรถไฟฟ้าเอง ในกรณีที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองราคาที่น่าพอใจได้

โดยการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บรายได้ โดยจะมีการจ้างเอกชนให้มาบริหารจัดการการเดินรถ และซื้อรถมาวิ่งเอง ซึ่งเบื้องต้นทางเอกชนได้เสนอราคาค่าจ้างเดินรถมาที่ 93,475 ล้านบาท และได้เจรจาปรับลดลงมาอยู่ที่ 85,990.50 ล้านบาท แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่ายังเป็นราคาที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

เลื่อนซื้อรถเมล์เอ็นจี ขอเวลา ครม.อ่านเอกสารประกอบ

ส่วนโครงการจัดหารถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 3,183 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น นายชัชชาติระบุว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากโครงการมีรายละเอียดและเอกสารจำนวนมาก และเพิ่งได้รับเอกสาร 1 วันก่อนประชุม ครม. ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงขอเวลาให้ ครม.ได้พิจารณาเอกสารทั้งหมดก่อน และจะหารือในที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งไม่เป็นปัญหาเพราะต้องการให้โครงการมีความโปร่งใสผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจะช่วยลดภาระคาน้ำมันซึ่ง ขสมก.แบกรับวันละประมาณ 200 ล้านบาท ให้ลดลงเหลือประมาณวันละ100 กว่าล้านบาท ทำให้ประหยัดเงินได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว โดยปรับเปลี่ยนจากเดิมที่จะใช้วิธีเช่า จำนวน 4,000 คันวงเงิน 64,853 ล้านบาท เป็นวิธีซื้อ จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 27,020.608 ล้านบาท โดยเป็นรถธรรมดา 1,659 คัน รถปรับอากาศ 1,524 คัน แบ่งเป็นค่าซื้อรถ 13,162.2 ล้านบาท ค่าซ่อมประมาณ 13,858.408 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่า และได้ประโยชน์มากที่สุด โดยปัจจุบันนี้มีผู้ใช้บริการรถเมล์ 3.6 ล้านคนหากเปลี่ยนเป็นรถเอ็นจีวี แล้วมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน ก็จะทำให้ ขสมก.มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น