xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” สั่งเร่งแผนประมูลไฮสปีด-มักกะสันคอมเพล็กซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” สั่งคมนาคมปรับแผนเร่งประมูลรถไฟความเร็วสูงก่อนไตรมาส 3/56 ให้เวลา 1 เดือนรายงานคืบหน้า พร้อมดันทำคลอดมักกะสันคอมเพล็กซ์ หารายได้แก้ขาดทุน ร.ฟ.ท. ส่วนรถไฟฟ้า 10 สายยังล่าช้า ดันประมูลรวดเดียวปี 56 พร้อมชง กก.กลั่นกรองฯ ครม.3 โครงการใหญ่ ดัน ครม.ไฟเขียวซื้อรถเมล์ NGV, เซ็นจ้างบีเอ็มซีแอลเดินรถสีม่วงและก่อสร้างรถไฟสีแดงประเดิมต้นปี 56

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางและโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งนายกฯ ให้กระทรวงคมนาคมปรับแผนดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ให้ประกวดราคาก่อนไตรมาส 3 ของปี 2556 จากแผนที่จะประกวดราคาในช่วงไตรมาส 3-4 โดยให้ปรับวิธีการทำงานเช่น ดำเนินการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างเงื่อนไขการประกวดราคาคู่ขนานไปพร้อมกันพร้อมกันนี้ต้องกำหนดขั้นตอนการทำงานในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงจะตั้งองค์กรบริหารอย่างไร ใช้เงินลงทุนจากไหน โดยให้รายงานความคืบหน้าหลังจากนี้ 1 เดือน ส่วนนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงนั้นจะจัดในเดือนพฤษภาคม 2556

ทั้งนี้ยังได้เร่งดำเนินโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ เพื่อช่วยลดขาดทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยโครงการจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่สำหรับให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ เช่น ศูนย์โอทอป เป็นต้น ส่วนจะเป็นอย่างไร พื้นที่เท่าไหร่ ร.ฟ.ท.ต้องวางแผนจัดรูปแบบทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนที่จะกำหนดในส่วนที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

ส่วนรถไฟฟ้า 10 สายนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า จะดำเนินทุกโครงการตามแผนแม่บทซึ่งในปี 55 มีหลายโครงการที่ประมูลไม่ทัน โดยต้องเร่งประมูลในต้นปี 56 วงเงินรวม 84,352 ล้านบาท คือ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร วงเงิน 59,912 ล้านบาท, สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ระยะทาง 14 กิโลเมตร วงเงิน 9,950 ล้านบาท, แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-พญาไท) ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร วงเงิน 13,590 ล้านบาท

ส่วนที่จะประมูลในปี 56 อีก 7 โครงการ ระยะทางรวม 118.4 กิโลเมตร วงเงินรวม 187,843 ล้านบาท คือ สีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กิโลเมตร วงเงิน 38,730 ล้านบาท, สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงิน 73,070 ล้านบาท, สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 10,150 ล้านบาท,สีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน, บางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร วงเงิน 36,960 ล้านบาท,สีแดง (ศิริราช-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 4,281 ล้านบาท, สีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงิน 5,252 ล้านบาท, แอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย (บางซื่อ-ดอนเมือง) ระยะทาง 13.9 กิโลเมตร วงเงิน 19,400 ล้านบาท

“รถไฟฟ้าสายสีชมพู, สายสีส้ม จะประกวดราคาให้ได้ในเดือนมีนาคม 2556 โดยกรณีที่มี ส.ส.กทม.เสนอให้ขยายแนวเส้นทางสายสีชมพูไปที่ถนนสุวินทวงศ์นั้น ในหลักการจะเดินหน้าโครงการตามแผนเดิม เนื่องจากการปรับแนวจะทำให้ต้องเริ่มศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กันใหม่ยิ่งจะทำให้ล่าช้า ส่วนการให้บริการประชาชนที่สุวินทวงศ์นั้นต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งมีหลายแนวทางให้เลือกเนื่องจากระยะทางจากมีนบุรีถึงสุวรรณภูมิประมาณ 600 เมตร เช่น ทำจุดจอดแล้วจร หรือ Park & Ride ต่อเพื่อเป็นทางเดินเชื่อมกับสถานีมีนบุรี หรือปรับแนวสายสีส้มเลี้ยวเข้าไปที่สุวินทวงศ์ ซึ่งให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาแนวทางที่เหมาะสม” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวถึงรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ว่า นายกฯ กังวลกรณีที่ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ เพื่อขอลงนามสัญญาที่ 1 (ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร ทีวงเงิน 2.12 หมื่นล้านบาทก่อนส่วนสัญญา 3 การจัดหาระบบรถไฟฟ้านั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากขณะนี้มีความล่าช้าและต้องเสียค่าปรับเงินกู้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ประมาณ 100 ล้านบาทแล้ว โดยหากไม่มีปัญหาจะเสนอ ครม.ต่อไป

นอกจากนี้ยังเสนอผลประกวดราคาสัญญา 4 (งานระบบและเดินรถไฟฟ้า) สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ได้รับคัดเลือกวงเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงได้แนบความเห็นว่าควรต่อรองราคาลงอีกไปด้วย ซี่งการตัดสินใจขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม. และโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 3,183 คัน วงเงินรวม 13,162 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมค่าจ้างเหมาซ่อมบำรุงอีก 13,858 ล้านบาท รวมมูลค่า 27,020 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดาหรือรถร้อน 1,659 คัน รถปรับอากาศ 1,524 คัน หากได้รับความเห็นชอบคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือนมกราคม 56
กำลังโหลดความคิดเห็น